พระกริ่งประภามณฑล หลวงพ่อกึ๋น เนื้อโลหะผสม

พระกริ่งมีประภามณฑล วัดดอน ยานนาวา จัดสร้างในปี พ.ศ.2480 โดย หลวงพ่อกึ๋น อดีต เจ้าอาวาส และ
เป็นลูกศิษย์ ในสมเด็จพระสังฆราช แพ แห่งวัดสุทัศน์ฯ

สมัยที่ท่านเป็นพระครูกึ๋นนั้น เป็นช่วงที่เกิดสงครามอินโดจีน ในฐานะที่ท่านเคยเป็นทหารมาก่อน
จึงมีความปรารถนาที่จะช่วยประเทศชาติตามวิสัยที่สมณเพศพึงกระทำได้ ปรารภที่จะสร้าง ‘พระกริ่งประภามณฑล’
ขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาและลูกบ้านทวายที่ไปออกสนามรบ ท่านจึงเข้าเฝ้า สมเด็จพระสังฆราช (แพ)
ณ วัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อทูลขออนุญาตจัดสร้าง และอาราธนาทรงเป็นประธานจุดเทียนชัยและกำกับการบวงสรวง
จนเสร็จพิธีซึ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ทรงประธานอนุญาตให้จัดสร้าง พร้อมมอบแผ่นทองลงอักขระ
และชนวนพระกริ่งรุ่นเก่าๆ ที่สะสมไว้เพื่อใช้เป็นชนวนในการหล่ออีกด้วย

พิธีเททองและพุทธาภิเษกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยในขณะทำพิธีฯ ได้เกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์ขึ้นถึงสองครั้งสองคราต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระสังฆราช (แพ)
และผู้มาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ครั้งแรก ท้องฟ้าที่สว่างไสวอยู่กลับมืดครึ้มลง แล้วเกิดอสุนีบาตผ่าลงมากลางปริมณฑลพิธี
จนเป็นที่โกลาหลแก่ผู้ร่วมพิธี แต่ปรากฏว่าไม่ใครได้รับอันตรายเลย ครั้งที่สอง ขณะที่สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ทรงจับสายสิญจน์ในพิธีเททอง สายสิญจน์เส้นหนึ่งได้ถูกลมพัดตกลงในเบ้าหลอมเนื้อโลหะที่กำลังร้อนแต่กลับไม่ไหม้ไฟ สร้างความเลื่อมใสศรัทธายิ่ง สมเด็จพระสังฆราช (แพ)
จึงทรงประธานนามพระกริ่งนี้ว่า "พระกริ่งนิรันตราย" แต่คนส่วนใหญ่มักเรียก "พระกริ่งฟ้าผ่า" ตามเหตุอัศจรรย์ที่เกิดขึ้น และเรียกติดปากกันมาจนทุกวันนี้
พระกริ่งฟ้าผ่า หรือ พระกริ่งนิรันตราย หลวงพ่อกึ๋น วัดดอนยานนาวา สร้างด้วยวิธีการเททองหล่อแบบโบราณและบรรจุกริ่งในตัวเหมือน ‘พระกริ่งวัดสุทัศน์’ กระแสของเนื้อโลหะเป็นทองผสม วรรณะจะออกเหลืองอมน้ำตาล ที่อมเขียวจะมีจำนวนน้อย
มี 2 ขนาด คือ ขนาดใหญ่และขนาดเล็ก แต่พุทธลักษณะองค์พระจะเหมือนกันทุกประการ

พุทธลักษณะ
พระกริ่งวัดดอน สร้างตามแบบกระกริ่งจีนทั่วไป มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่กับพิมพ์เล็ก พุทธลักษณะเหมือนกันทุกประการคือ องค์พระประทับนั่ง ปางมารวิชัย ชัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ (มือ) ข้างซ้ายถือหม้อน้ำมนต์ ด้านหน้าพระเพลา (ตัก) เป็นผ้าทิพย์ ประทับบนอาสนะบัวคว่ำบัวหงาย 7 กลีบ ด้านหลังพระเศียร (ศรีษะ) เป็นประภามณฆลกลม ประดับด้วยเม็ดไข่ปลา ด้านหลังประภามณฆลแบบเรียบ ส่วนใหญ่จะจารอักขระตัว “อุ” มีเกือบทุกองค์ เท่าที่พบเห็น

ลักษณะบรรจุกริ่ง จะเป็นแบบกริ่งใน สามารถมองเห็นรอยบรรจุเม็ดกริ่งที่กึ่งกลางฐานด้านหลัง บ้างจะออกวรรณะสีแดง
บ้างจะออกวรรณะสีเหลืองก็มี

Visitors: 382,403