พระนางพญา พิมพ์ขาโต๊ะ เนื้อดิน


เป็นเนื้อหาของพระนางพญาขาโต๊ะ กรุวัดสุวรรณณาราม (วัดทอง)

พระกรุพระเก่าที่เป็นพระเนื้อดินองค์หนึ่ง ที่ไม่ค่อยมีใครได้พูดถึงกันนัก แต่เป็นพระเก่าที่น่าใช้ 

พระที่ว่านี้ก็คือ นางพญาขาโต๊ะกรุวัดสุวรรณาราม


วัดสุวรรณาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ในสมัยก่อนการติดต่อต้องเดินทางโดยเรือเท่านั้น ในปัจจุบันไปมาสะดวก โดยเข้าซอยที่อยู่ตรงข้ามถนนบางกอกน้อย-ตลิ่งชัน เชิงสะพานข้ามคลองบางกอกน้อย บนถนนจรัญสนิทวงศ์ วัดนี้เดิมชื่อวัดทอง เป็นวัดราษฎร์ ไม่ปรากฏว่าใครสร้าง เป็นวัดซึ่งมีมาแต่โบราณ ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้รื้อสถาปนาใหม่ทั่วทั้งพระอารามแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดสุวรรณาราม"


ในสมัยนั้นกรมพระราชบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างเครื่องป่าช้า คือเมรุ และสร้างสำสร้าง (โรงขนาดเล็กมียกพื้นข้างในสำหรับพระสงฆ์นั่งสวดอภิธรรม 4 มุมเมรุ) หอสวด หอทิ้งงาน โรงโขน โรงหุ่นระทา พลับพลาโรงครัว ถวายเป็นของพระบรมมหาราชวัง สำหรับเป็นที่พระราชทานเพลิงพระศพเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า และศพขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ปัจจุบันเครื่องป่าช้าได้ชำรุดผุพังไปหมดแล้ว


พอถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ ขยายเขตวัดให้กว้างกว่าเดิม แล้วโปรดให้มีงานฉลองเมื่อปี พ.ศ. 2374 พร้อมกับวัดอื่นๆ อีก 8 วัด คือ วัดราชโอรส วัดสระเกศ วัดราชสิทธาราม วัดอรุณราชวราราม วัดภคินีนาถ วัดโมลีโลก วัดระฆังโฆสิตาราม และวัดพระยาทำ


พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ในสมัยรัชกาลที่ 5 และเราๆ ท่านๆ รู้จักดีก็คือ พระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี หรือหลวงพ่อทับ วัดทองนั่นเองครับ


พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระที่ประณีตงดงามไม่ปรากฏพระนาม แต่ชาวบ้านเรียกว่า "พระศาสดา" สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือตำนานพระพุทธรูปสำคัญ ว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นฝีมือเดียวกับพระศรีสากยมุนี วัดสุทัศน์ ซึ่งเชิญมาจากสุโขทัยเมื่อรัชกาลที่ 1


ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2507 พระราชพุทธิญาณเจ้าอาวาส วัดสุวรรณาราม ได้สั่งให้รื้อพระเจดีย์ทรงมอญองค์หนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในกำแพงแก้วทางด้านหลังพระอุโบสถ ในการรื้อพระเจดีย์ดังกล่าวทางวัดได้พบพระเครื่องอยู่ 2 ชนิดคือ พระนางพญาขาโต๊ะ กับพระโคนสมอ พระนางพญาขาโต๊ะ พบประมาณ 200 องค์ ไม่มีใครทราบว่าเป็นพระที่สร้างมาแต่เมื่อไร มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะนำมาจากทางภาคเหนือ มาบรรจุไว้ในพระเจดีย์ แต่ก็ไม่เคยมีการพบในที่อื่นๆ นอกจากที่วัดสุวรรณฯ สาเหตุที่เรียกกันว่านางพญาขาโต๊ะ ก็เพราะที่อาสนะที่องค์พระประทับนั่งอยู่นั้น มีลักษณะเป็นฐานมีขาสามขาคล้ายขาโต๊ะ จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อ นางพญาขาโต๊ะ เนื้อของพระเป็นพระเนื้อดินละเอียด พระส่วนใหญ่จะมีการลงรักปิดทอง พระนางพญาขาโต๊ะนี้ยังไม่มีใครทราบประวัติ การสร้างที่แน่นอน แต่เท่าที่ดูจากศิลปะและเนื้อหาของพระ เป็นพระเก่าแน่ครับ พระนางพญาขาโต๊ะนี้เป็นพระที่น่าศึกษาและบูชาไว้ เพราะสนนราคาก็ยังไม่แพงมากนัก พุทธคุณดีทางเมตตามหานิยม


Visitors: 382,409