เหรียญรูปเหมือนไต้ฮงกงโจวซือ รุ่นแรก เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง

เหรียญรูปเหมือนไต้ฮงกงโจวซือ รุ่นแรก เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง    

             มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งยังได้จัดสร้าง "เหรียญรูปเหมือนไต้ฮงกงโจวซือ รุ่นแรก" สันนิษฐานว่าเหรียญรุ่นแรกนี้สร้างราวปี พ.ศ.2480- 2493 อาจจะสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสที่ได้จดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2480 โดยประกอบพิธีพุทธาภิเษกทั้งทางพุทธศาสนาฝ่ายหินยานและมหายาน จากนั้นได้มีการแจกเหรียญรุ่นแรกนี้แก่สาธุชนทั้งไทยและจีนโดยทั่วกัน

            ลักษณะเหรียญ เป็นรูปยาวรีเหมือนผลซิ่วท้อจีน ซึ่งถือว่าเป็นผลไม้ทิพย์แห่งสรวงสวรรค์ มีหูในตัว เนื้อทองแดง ขนาดเหรียญสูง 2.5 เซนติเมตร กว้าง 2.0 เซนติเมตร ด้านหน้า กึ่งกลางเหรียญมีรูปหลวงปู่ไต้ฮงกงโจวซือ เป็นรูปครึ่งองค์ ครองจีวรแบบพระภิกษุจีน สวมหมวกจีน มีประภามณฑลล้อมรอบศีรษะ ดุจรัศมีอยู่เบื้องหลังท่าน ด้านหลังมีลวดลายกนกขนาบอยู่สองข้าง ตรงกลางมีตัวอักษรจีน 5 ตัว เรียงตามแนวดิ่ง อ่านจากบนลงล่างว่า "ซ่ง ไต้ ฮง โจว ซือ" แปลว่า "หลวงปู่ไต้ฮงกง ปรมาจารย์แห่งราชวงศ์ซ้อง"

            กล่าวขวัญกันว่า พุทธคุณดีในด้านคุ้มครองปกป้องภัยอันตรายได้ดีเยี่ยม เฉกเช่นเดียวกับแผ่นยันต์ หรือฮู้ กระดาษของท่านไต้ฮงกงโจวซือ

 

            หลวงปู่ไต้ฮงกง เป็นพระเถระชาวจีน ที่คนไทยเชื้อสายจีนนิกายมหายานจะรู้จักกันดี โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ท่านเป็นพระที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก แม้ว่าจะมีชีวิตอยู่ในสมัย 1,000 ปีที่แล้ว ชาวบ้านก็ยังเลื่อมใสบูชาต่อเนื่องกันมามิได้ขาด ถ้าบารมีของท่านไม่สูงจริง ชาวจีนตอนอพยพเข้ามาอยู่ประเทศไทย คงไม่นำเอารูปเคารพหลวงปู่ไต้ฮงกงหอบข้ามน้ำข้ามทะเลมาด้วย

            จากบันทึก หลวงปู่ไต้ฮงกง ท่านเกิดที่เมืองเหวินโจว มณฑลเจ้อเจียง เมื่อพ.ศ.1582 สมัยราชวงศ์ซ่ง จากตระกูลแซ่ลิ้ม เดิมชื่อว่า หลิงเอ้อ ครอบครัวของท่านสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินได้รับการศึกษาทั้งทางวิชาการและพุทธศาสนา ท่านมีสติปัญญาปราดเปรื่องสามารถสอบไล่ได้ตำแหน่ง "จิ้นซือ" และเข้ารับราชการในตำแหน่งนายอำเภอ มณฑลเจ้อเจียง ท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต สามารถปกครองราษฎรให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข สอบได้เป็นบัณฑิตระดับจิ้นซือ (บัณฑิตชั้นเอก)

            เมื่ออายุ 54 ปี เกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตราชการ ท่านจึงได้สละลาภยศอันสูงเกียรติออกอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนานิกายมหายาน ณ วัดแห่งหนึ่งในมณฑลฮกเกี้ยนได้รับฉายาว่า "ไต้ฮง" หลังบวชแล้วท่านก็ได้หมั่นบำเพ็ญศาสนกิจ ศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนบรรลุธรรมอันวิเศษ ท่านไต้ฮงพำนักอยู่ที่วัดดังกล่าวเป็นเวลาหลายปี ด้วยจิตที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณาต้องการออกโปรดสัตว์ ท่านจึงได้ออกธุดงค์จากเมืองฮกเกี้ยนไปตามเมืองต่างๆ ตลอดเส้นทางที่ท่านธุดงค์ผ่านไปนั้น เมืองใดที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ ท่านก็จะช่วยขจัดปัดเป่า บรรเทาทุกข์ให้ เมืองใดที่สร้างถนนหรือสะพาน ท่านก็จะช่วยเหลือจนกระทั่งเสร็จเรียบร้อย ในบางแห่งที่มีโรคระบาด มีคนเจ็บและล้มตาย ท่านก็จะช่วยนำยารักษาโรคออกแจกจ่ายแก่ผู้เจ็บป่วย และออกบิณฑบาตไม้มาทำโลงศพและนำศพไปบรรจุฝังตามธรรมเนียม

            พระภิกษุไต้ฮงออกธุดงค์โปรดสัตว์อยู่หลายปี จนกระทั่งผ่านมายังเมืองแต้จิ๋ว ก็มีพุทธศาสนิกชนนิมนต์ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งบนภูเขาปักซัว อำเภอ เตี่ยนเอี้ย ซึ่งตลอดเวลาที่ได้พำนักอยู่ที่วัดแห่งนี้ท่านได้บำเพ็ญศาสนกิจอย่างเคร่งครัด ด้วยความมีเมตตาธรรมจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ทำให้บรรดาสาธุชนที่มีความศรัทธาเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ท่านยังได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดดังกล่าวจนกลายเป็นพระอารามใหญ่ เจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้

            ในบั้นปลายชีวิตของท่าน ได้ออกธุดงค์ไปอยู่จำพรรษาที่วัดเมี่ยงอัง ตำบลฮั่วเพ้ง ห่างจากอำเภอเตี่ยนเอี้ยไปประมาณ 15 กิโลเมตร ที่หมู่บ้านนี้มีแม่น้ำเหลียงเจียงไหลผ่าน แบ่งเป็นฝั่งตะวันออกและตะวันตก วัดเมี่ยงอังตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ ในสมัยนั้นแม่น้ำเหลียงเจียงเมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำในแม่น้ำไหลเชี่ยวกรากมาก อีกทั้งมีความกว้างใหญ่และลึก ประชาชนจึงใช้เรือเป็นพาหนะ ยามเมื่อเกิดมรสุมจะเกิดเหตุเรือล่มบ่อยๆ ทำให้มีผู้คนเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ ท่านไต้ฮงจึงเกิดความเวทนาสงสารประชาชน จึงดำริที่จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเหลียงเจียง เพื่อให้ประชาชนได้สัญจรโดยสะดวก ท่านจึงได้บิณฑบาตวัสดุก่อสร้างต่างๆ อยู่หลายปี จนปีพ.ศ.1671 มีพ่อค้าใหญ่เดินทางมานมัสการท่าน และทราบว่าท่านจะสร้างสะพาน จึงได้นำช่างก่อสร้างและวัสดุมาร่วมสร้างสะพานด้วย

            ส่วนบริเวณที่จะสร้างสะพานนั้น ท่านได้เลือกตรงหน้าศาลเจ้าหลักเมือง และดูฤกษ์ยามสำหรับการเริ่มงาน ในวันที่เริ่มสร้างสะพาน สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดคือน้ำในแม่น้ำเกิดลดลงไปจนเกือบแห้งเป็นที่อัศจรรย์ บรรดาประชาชนและช่างต่างก็ก้มลงกราบท่านด้วยความศรัทธา ท่านกลับบอกว่าให้กราบฟ้าดินเถิด การณ์ครั้งนี้น้ำทะเลที่ปากแม่น้ำจะไม่ขึ้นลงเป็นเวลา 7 วัน เมื่อทราบเช่นนั้นพวกช่างจึงสร้างรากฐานสะพานและสร้างถ้ำสำหรับระบายน้ำจำนวน 19 ถ้ำ จนแล้วเสร็จโดยใช้เวลา 7 วันพอดี วันต่อมาน้ำในแม่น้ำเหลียงเจียงก็ขึ้นลงตามปกติ การก่อสร้างสะพานจึงเป็นไปด้วยความราบรื่นจนกระทั่งเสร็จ ตั้งชื่อสะพานนี้ว่า "ฮั่วเพ็ง"

            ชาวจีนทางตอนใต้แถบซัวเถาศรัทธาเลื่อมใสท่านมาก ปัจจุบันมักเรียกว่า "หลวงปู่ไต้ฮงกง" หรือ "ไต้ฮงกง" ด้วยแรงบันดาลใจในการสงเคราะห์ศพไร้ญาติของท่าน กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลได้เข้ามาอาศัยร่มพระบรมโพธิสมภารแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ไทยจึงร่วมกันจัดตั้งองค์กรสงเคราะห์สาธารณภัย เพื่อเจริญรอยตามกุศลเจตนาของท่านไต้ฮงกงโจวซือ โดยใช้ชื่อว่า "มูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง" หรือที่เรารู้จักกันในนามมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง (แปลว่า คุณานุสรณ์) ตั้งอยู่บนถนนพลับพลาไชย กรุงเทพมหานคร มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะสมาคมเก็บศพไร้ญาติที่บำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคมไทยมากมาย

 

Visitors: 342,965