เหรียญหลวงปู่เผือก วัดสาลีโข รุ่นแรก ปี 2510 เนื้อเงิน

เหรียญหลวงปู่เผือก วัดสาลีโข รุ่นแรก ปี 2510 เนื้อเงิน

            เหรียญหลวงปู่เผือก วัดสาลีโข จ.นนทบุรี รุ่นแรก จัดสร้างในปี พ.ศ.2510 จัดสร้างโดย หลวงพ่อสมภพ เตชปุญโญ ผู้สร้างเหรียญรุ่นนี้ได้นำไปปลุกเสกที่ถ้ำแก่งละว้า จ.กาญจนบุรี เป็นการปลุกเสกเดี่ยวตลอดไตรมาส เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงแจกแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ไปจำนวนหนึ่งในปีนั้น ส่วนที่เหลือได้ประกอบพิธีปลุกเสกอีกครั้งที่วัดสาลีโข เมื่อวันเสาร์ห้า ปี พ.ศ.2512 และปลุกเสกต่ออีก 3 เดือน

            ลักษณะเป็นเหรียญปั้มรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ หูในตัว ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปหลวงปู่เผือกนั่งบนหลังสิงห์ มีอักขระเลขยันต์เต็มเนื้อที่บนพื้นเหรียญ ด้านหลังเหรียญมีอักขระเลขยันต์เต็มเนื้อที่บนพื้นเหรียญ

            เหรียญหลวงปู่เผือก วัดสาลีโข รุ่นแรก จัดสร้างด้วยกัน 3 เนื้อได้แก่

1.เหรียญเนื้อทองคำไม่ทราบจำนวน

2.เหรียญเนื้อเงิน 108 เหรียญ 

3.เหรียญเนื้อทองแดง 2,510 เหรียญ (เท่าจำนวน ปี พ.ศ.ที่จัดสร้าง) 

            เหรียญหลวงปู่เผือกรุ่นนี้ ปลุกเสกโดยพระอาจารย์สมภพ จากการประทับทรง หลวงปู่เผือกนับเป็นเหรียญดีและขลังมากเหรียญหนึ่งของเมืองนนท์ 

            ด้านประสบการณ์ เหรียญหลวงปู่เผือก วัดสาลีโข รุ่นแรก มีประสบการณ์โดดเด่นมากในด้าน "อยู่ยงคงกระพัน" ในอดีตชุมชนย่านวัดสาลีโขขึ้นชื่อว่าเป็นดงนักเลง ถึงกับมีคำพูดกันติดปากว่า"หนังไม่เหนียว ห้ามเที่ยวสาลีโข"

 

            สำหรับประวัติของท่านพระครูธรรมโกศล หรือหลวงปู่เผือกนั้น หลวงพ่อสมภพ ท่านได้เมตตาเล่าประวัติว่า

            หลวงปู่เผือก ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือนอ้าย ปีชวด พ.ศ.2299 เป็นชาวกรุงศรีอยุธยา บิดาเป็นชาวจีนที่เดินทางเข้ามาประกอบอาชีพค้าขายในประเทศไทย ส่วนมารดาเป็นคนไทย

            หลวงปู่เผือก บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดพุทไธศวรรย์ สมัยนั้นความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของคนไทยมีมาก หลวงปู่เผือกจึงได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมควบคู่ไปกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนแตกฉานตั้งแต่เป็นสามเณร

            ก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตก โยมบิดามารดาของท่านได้อพยพหลบภัยสงครามจากรุงศรีอยุธยา หลวงปู่เผือกซึ่งขณะนั้นยังเป็นสามเณร ได้ติดตามคอยดูแลโยมบิดามารดา พร้อมกับกลุ่มผู้อพยพจนมาถึงบริเวณสุดแนวโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับเกาะเกร็ด กลุ่มผู้อพยพจึงตั้งหลักแหล่งพักอาศัยทำมาหากินในบริเวณดังกล่าว มีสำนักสงฆ์เก่าแก่อยู่แห่งหนึ่ง สามเณรเผือกจึงได้จำพรรษาในสำนักสงฆ์นั้น ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น “วัดสาลีโข” ในปัจจุบัน

            ต่อมา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงขับไล่พม่าออกไปจากประเทศไทยได้สำเร็จ และทรงตั้งกรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง สามเณรเผือกจึงเดินทางย้อนกลับไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อศึกษาวิชาการต่อ พออายุครบบวชท่านจึงเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดป่าแก้ว ซึ่งเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 8 ปีมะแม พ.ศ.2319 ได้รับฉายาว่า “ธัมมะโกศล”

            เวลาออกพรรษา หลวงปู่เผือกท่านชอบออกธุดงควัตรเสมอ จนทำให้ท่านมีความเชี่ยวชาญด้านกรรมฐาน และมีวิชาอาคมแก่กล้า เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป ถึงแม้ท่านจะมีอายุไม่มากนัก (สหธรรมมิกของท่านที่มีชื่อเสียง คือ สมเด็จพระสังฆราช สุก ไก่เถื่อน)

            สมัยรัชกาลที่ 1 หลวงปู่เผือกท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมากจนเข้าไปถึงหูของบรรดาขุนนาง เจ้านายในวัง ต่างมาหาท่าน เพื่อขอวัตถุมงคล หรือขอให้ท่านลงอักขระเพื่อความเป็นสิริมงคล หรือต้องการหนังเหนียว ว่ากันว่าท่านทำได้ขลังนัก ทำให้มีลูกศิษย์มาขึ้นกับท่านมาก เรียกได้ว่าในช่วงนั้นวัดสาลีโขเจริญรุ่งเรืองสุดขีด

            สมัยรัชกาลที่ 4 หลวงปู่เผือกได้รับพระราชทานพระราชทินนามว่า “พระครูธรรมโกศล” ตำแหน่งสังฆปาโมกข์ฝ่ายอรัญวาสี แขวงนนทบุรี และเป็นเจ้าคณะเมืองนนทบุรี

            หลวงปู่เผือกได้รับพระราชทานเรือกันยาหลังคาแดง มีฝีพายเต็มอัตรา เป็นเรือประจำตำแหน่ง สำหรับออกตรวจคณะสงฆ์ในเขตปกครอง

หลวงปู่เผือก ละสังขารในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ.2405 สิริอายุรวม 106 ปี

 

Visitors: 342,954