พระหน้านกฮูก พิมพ์เศียรโล้น กรุวัดชายทุ่ง จ.สุพรรณบุรี

“พระหน้านกฮูก พิมพ์เศียรโล้น กรุวัดชายทุ่ง จ.สุพรรณบุรี”

 เมืองสุพรรณบุรี เป็นเมืองที่มีพระกรุมากมาย ล้วนมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักของนักสะสมพระเครื่องทั่วประเทศ เท่าที่ค้นพบมีมากถึง 15 กรุ หนึ่งในนั้น คือ “พระกรุวัดชายทุ่ง” พระที่ขุดพบ คือ “พระหน้านกฮูก” ศิลปะเวียงจันทน์ หรือที่เรียกกันว่า “พระลาว” พระพักตร์คล้าย “หน้านกฮูก” อันเป็นที่มาของชื่อพระพิมพ์นี้ สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น บรรจุในกรุเจดีย์รวมกับศัสตราวุธต่างๆ

ประวัติ วัดชายทุ่ง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยชาวไทยเชื้อสายลาวเวียงจันทน์ ซึ่งอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในราวปี 2369-2370

กล่าวกันว่า ชาวเวียงจันทน์ที่อพยพมานั้น มีพระภิกษุร่วมขบวนมาด้วย คือหลวงพ่ออุมงค์ (องมงค์ หรือโองมุงค์ เรียกเพี้ยนกันไปตามกาลเวลา) ร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้นตรงบริเวณบ้านโคกหม้อ ปัจจุบันคือหมู่ 5 ต.ท่าระหัด อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

หลังจากสร้างวัดแล้วจึงสร้างพระพิมพ์บรรจุในเจดีย์ เป็นพระเครื่องเนื้อชินตะกั่วและเนื้อว่าน มี 2 พิมพ์ คือ 1.พิมพ์หน้านกฮูกเศียรแหลม และ 2.พิมพ์หน้านกฮูกเศียรโล้น 

ขณะนำพระบรรจุในองค์เจดีย์นั้น ชาวบ้านโคกหม้อได้นำศัสตราวุธต่างๆ อาทิ ปืนดาบศิลา หอก ดาบ หลาว ฯลฯ ซึ่งใช้เป็นอาวุธในศึกสงครามที่ผ่านมา ฝังเข้าไปด้วย

“พระหน้านกฮูก กรุวัดชายทุ่ง” แตกกรุเมื่อปี พ.ศ.2496 โดยมีฝรั่งกับชาวบ้านคนไทยละแวกนั้น ไปดักยิงนกพิราบที่เกาะองค์เจดีย์ ในขณะที่เหนี่ยวไกปืนนั้น ปรากฏว่ากระสุนขัดลำกล้อง จึงลองยิงอีกหลายครั้ง ผลปรากฏเหมือนเช่นเดิม ชาวบ้านจึงลือกันว่า เจดีย์องค์นี้เฮี้ยนมาก

เมื่อข่าวนี้แพร่กระจายออกไปจนถึง “นักขุดพระ” จึงแห่กันมาที่เจดีย์วัดชายทุ่ง ลงมือขุดเจาะเจดีย์เพื่อหาสมบัติ และพระบูชา พระพิมพ์ในกรุ เพราะเชื่อว่าที่ฝรั่งยิงปืนไม่ออกนั้นอาจมีของขลัง หรือของวิเศษอยู่ข้างใน

หลังจากขุดเจาะถึงข้างในแล้วก็พบอาวุธต่างๆ บรรจุรวมกับพระบูชา และพระพิมพ์ เนื้อว่าน และเนื้อชิน (ไม่มีพระพิมพ์เนื้อผง) พระพิมพ์ในกรุนี้ ต่อมาวงการพระเรียกว่า “พระหน้านกฮูก” มีด้วยกัน 2 พิมพ์ คือ

1.พระพิมพ์หน้านกฮูก เป็นพระนั่งขัดสมาธิราบปางสมาธิ พิมพ์นี้เป็นพิมพ์จำลององค์พระสงฆ์ ซึ่งคนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าเป็น หลวงพ่อเนียม วัดน้อย มีพระพักตร์กลม พระเนตรกลม เศียรโล้นคล้ายนกฮูก มีทั้งเนื้อชินและเนื้อว่าน แต่ด้วยถูกเก็บไว้ในกรุเป็นเวลานานนับร้อยปี จึงทำให้เนื้อพระเกิดการผุกร่อน และมีสนิมคราบไขขึ้นโดยทั่วไป

2.พระพิมพ์เศียรโล้น เป็นพระนั่งปางสมาธิเพชร ลำพระองค์ต้อ มีพระพักตร์กลม พระเนตรยาว พระนาสิกใหญ่ พระกรรณกาง และพระเศียรโล้น เนื้อตะกั่วสนิมแดง นอกจากนี้ยังมีพระนั่งสมาธิ อีกหลายพิมพ์ ทั้งแบบเต็มองค์ มีปีกสองข้าง พิมพ์เล็บมือ แบบตัดข้างทั้งสี่มุม หรือห้ามุม ทรงสามเหลี่ยมและปลายแหลม เนื้อพระมีทั้งแบบชินตะกั่วผสมปรอท เนื้อชินตะกั่วจะมีคราบสนิมไขขาวขึ้นอยู่ทั่วไป ส่วนพระเนื้อว่านจะมีเนื้อแห้งแน่น บางองค์เกิดการหดตัวของว่าน ทำให้ผิวของพระขรุขระ

พระกรุวัดชายทุ่ง มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมทางด้านคงกระพันชาตรีและเมตตามหานิยม 

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

 

Visitors: 343,007