เหรียญหลวงพ่อเลียบ วัดเลา รุ่นแรก พิมพ์สมาธิ เนื้อเงิน

              "เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อเลียบ" เป็นเหรียญเนื้อเงิน ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเลียบนั่งเต็มองค์เหนืออาสนะขาสิงห์มีพนักข้างและหลัง ด้านล่างมีอักษรไทยว่า "หลวงพ่อเลียบ วัดเลา" ด้านหลัง เป็นยันต์สี่บรรจุอักขระขอม มีอุณาโลม 4 ทิศ

เหรียญหลวงพ่อเลียบ วัดเลา รุ่นแรก มี 2 พิมพ์ ด้วยกัน คือ พิมพ์สมาธิ และพิมพ์มารวิชัย 

               หลวงพ่อเลียบท่านเป็นคนธนบุรี เกิด พ.ศ.2412 ศึกษาเล่าเรียนอักขระในสำนักพระครูพุทธพยากรณ์ (กล่ำ) วัดอัปสรสวรรค์ พออายุครบบวช จึงอุปสมบทที่วัดอัปสรสวรรค์ โดยมี พระอาจารย์ทัด วัดสิงห์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระภาวนาโกศลเถระ (หลวงปู่เอี่ยม) วัดหนัง และพระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) วัดปากน้ำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา "ปุญญสิริ" ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยที่วัดอัปสร สวรรค์และวัดขุนจันทรามาตย์ ท่านยังได้ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาเกี่ยวกับวิปัสสนาธุระในสำนักของ หลวงปู่เอี่ยม และไปศึกษาพระปริยัติธรรมกับ พระอุดรคณารักษ์ (ชุ่ม) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 

               ท่านเป็นพระภิกษุที่ตั้งใจใฝ่หาวิชาความรู้และวิทยาการต่างๆ มีความขยันหมั่นเพียรเรียนรู้จนแตกฉานอย่างรวดเร็ว ท่านยังช่วยเหลือปฏิบัติภารกิจต่างๆ ของวัด จนเป็นที่ไว้วางใจจากพระอาจารย์มาโดยตลอด

              ในสมัยที่ท่านศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดพระเชตุพนฯ ได้ช่วยเหลืองานต่างๆ ท่านจึงบูรณะถนน 2 สายที่ยาวตลอดวัด ซึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก จนเสร็จในปี พ.ศ.2444 จนเป็นถนนที่สะดวกในการสัญจรไปมาได้คล่องตัวจนถึงทุกวันนี้ สร้างความอัศจรรย์แก่พระอาจารย์ บรรดาภิกษุสงฆ์ และผู้พบเห็นยิ่งนัก จากนั้นมาท่านก็เริ่มสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม เดินสาย-ติดตั้งไฟฟ้าในพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และบริเวณลานวัดให้มีความสว่างไสว นับเป็นอนุสรณ์สำคัญที่หลวงพ่อเลียบที่ได้ฝากไว้แก่วัดพระเชตุพนฯ

              แม้ท่านจะจำพรรษาอยู่ที่วัดเพียง 21 ปี และในปี พ.ศ.2451 ท่านก็ได้เลื่อนฐานะเป็นพระปลัดฐานานุกรมในพระศากยปุตติวงศ์ (เผื่อน ป.9) ในปี พ.ศ.2457 ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร ณ ท่าวาสุกรี เทเวศร์ ว่างลง สภาพวัดในขณะนั้นโทรมมาก มีพระภิกษุจำพรรษาเพียง 7 รูป อุโบสถ ช่อฟ้า ใบระกาก็ยังไม่มี เมื่อท่านเข้าครองวัดเทวราชกุญชร เป็นเจ้าอาวาสลำดับที่ 7 จึงเริ่มพัฒนาวัด บูรณปฏิสังขรณ์ สร้างศาสนสถาน และเสนาสนะต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2462 ท่านจึงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระเทพสิทธินายก (เลียบ) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร

              อยู่มาวันหนึ่งขณะที่หลวงพ่อเลียบเดินทางไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่ป่วยไข้จากโรคระบาด และท่านรักษาด้วยการให้อาบและดื่มน้ำมนต์ของท่านอยู่นั้น ท่านได้พบเห็น "วัดเลา" ที่มีสภาพเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่บริเวณตำบลท่าข้าม อำเภอบางขุนเทียน พระอุโบสถก็ปรักหักพัง พระพุทธรูปชำรุด ชวนให้สังเวชยิ่งนัก ท่านจึงดำริที่จะบูรณะพระพุทธรูปให้สมบูรณ์ดังเดิม และทำร่มเงาให้พอประดิษฐานหลบแดดหลบฝน 

               เมื่อปรารภออกไปก็มีบรรดาผู้เลื่อมใสและลูกศิษย์ลูกหาพากันมาช่วยกำลังกายกำลังทรัพย์จนเสร็จ ชาวบ้านแถบนั้นจึงขอให้ท่านช่วยสร้างวัดเลาให้เจริญรุ่งเรืองอย่างถาวรสืบไป ซึ่งท่านก็ไม่ขัดศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์ และสร้างเสนาสนะต่างๆ จนเสร็จ โดยใช้เวลา 5 ปีเท่านั้น ในปี พ.ศ.2467 ท่านได้ทูลขอพระบรมราชานุญาต พระราชทาน วิสุงคามสีมาและผูกพัทธสีมาวัดเลาจนเป็นที่เรียบร้อย ในปี พ.ศ.2472 จากนั้นได้ย้ายมาจำพรรษายังวัดเลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2473 เป็นต้นมา 

               แล้วเริ่มพัฒนาวัด สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม สร้างโรงเรียนประชาบาลจนปัจจุบันกลายเป็นสถานศึกษาสำคัญ นอกจากนี้ ยังสร้างวัดนาค และวัดสี่บาท ซึ่งเดิมเป็นวัดร้าง แต่ไม่ทันแล้วเสร็จท่านก็ถึงแก่มรณภาพในปี พ.ศ.2483 สิริอายุ 69 ปี

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

Visitors: 342,794