พระชัยวัฒน์ พระครูลืม วัดอรุณฯ

พระชัยวัฒน์ พระครูลืม วัดอรุณฯ

            พระชัยวัฒน์ พระครูลืม วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 5 เบญจภาคีพระชัยวัฒน์ ประกอบด้วย 1.พระชัยวัฒน์ท่านเจ้ามา วัดจักรวรรดิ 2.พระชัยวัฒน์หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว 3.พระชัยวัฒน์สมเด็จสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ 4.พระชัยวัฒน์หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง และ 5.พระชัยวัฒน์พระครูลืม วัดอรุณ (แจ้ง)

            พระครูลืม ท่านเป็นศิษย์ในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์ ธมฺมสิริ) วัดอรุณราชวราราม และสมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ เป็นศิษย์ร่วมสำนักกับท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) และได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ เป็นอย่างมาก เมื่อครั้งที่ท่านได้คิดที่จะสร้างพระชัยวัฒน์นั้น สมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ จึงมอบชนวนพระกริ่งของท่านแก่พระครูลืมเพื่อเป็นมวลสารในการหล่อพระชัยวัฒน์พระครูลืม วัดอรุณ ที่สำคัญสมเด็จสังฆราชแพและท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) ยังได้ร่วมปลุกเสกพระชัยวัฒน์พระครูลืม วัดอรุณ ให้ด้วย

             

            พระครูภาวนาวิจารณ์ (พระครูลืม) นามเดิมว่า ลืม นามสกุล ปิยัมบุตร  เป็นบุตรของพระยาปริยัติธาดา (เปี่ยม ปิยัมบุตร) และคุณหญิงส้มลิ้ม สันนิษฐานว่าท่านเกิดที่บ้านซึ่งอยู่หน้าวัดชนะสงคราม หรือมิฉะนั้นก็ที่บ้านริมทางรถไฟสายใต้ แขวงบางบำหรุ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ชีวิตในปฐมวัยได้เรียนหนังสือที่พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง แล้วออกรับราชการที่โรงภาษีร้อยชักสาม (กรมศุลกากร) ต่อมาเข้ารับราชการกรมทหารเรือ (โรงหล่อ)

            พระครูภาวนาวิจารณ์ (ลืม) อุปสมบทที่วัดสุวรรณาราม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์ ธมฺมสิริ) วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นพระกรรมวาจารย์ ได้ศึกษาภาษาบาลี แต่ไม่ได้เข้าสอบแปล พ.ศ.2441 ย้ายมาอยู่วัดอรุณราชวราราม และได้เป็นพระครูวินัยธรรม ฐานานุกรมของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์) 

            ครั้นเมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์) มรณภาพแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงปรารภว่า พระครูวินัยธรรมลืม เป็นบุตรของอาจารย์ จึงตั้งเป็นพระครูประสิทธิ์พุทธมนต์ ฐานานุกรมในพระองค์ ในปี พ.ศ.2457 แล้วโปรดให้ย้ายมารักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ในปี พ.ศ.2458  ให้เลื่อนเป็นพระครูวิสุทธิธรรมภาณ ฐานานุกรมในพระองค์อีกครั้ง ท่านรักษาการอยู่ถึงปี พ.ศ.2459 ก็กลับไปอยู่วัดอรุณราชวรารามตามเดิม ในปี พ.ศ.2463 ทรงพระกรุณาตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูภาวนาวิจารณ์และได้ ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2464 ดังประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า “พระครูภาวนาวิจารณ์ (ลืม) วัดอรุณราชวราราม อายุ 52 ปี อาพาธเป็นไข้ ถึงแก่มรณภาพวันที่ 13 กันยายน พระพุทธศักราช 2464” 

 

Visitors: 342,910