พระบัณฑูรย์ พิมพ์เศียรโล้น กรุวังหน้า กรุงเทพฯ

พระบัณฑูรย์ พิมพ์เศียรโล้น กรุวังหน้า กรุงเทพฯ
       พระบัณฑูรย์ พิมพ์เศียรโล้น กรุวังหน้า กรุงเทพฯ เป็นพระสร้างต้นสมัยรัตนโกสินทร์ สร้างด้วย เนื้อดินลงรักปิดทองล่องชาด น่าจะมีการสร้างในยุคใกล้เคียงกับ "พระโคนสมอ" ซึ่งแตกกรุออกมาก่อนหน้า ที่มีพระจำนวนมากมายหลายสิบพิมพ์ โดยพระโคนสมอนั้นเรียกขานเรียกตามสถานที่ๆ พบ คือ โคนต้นสมอพิเภก ที่ในบริเวณเขควังหน้า หรือ "พระราชวังบวรสถานมงคล" เมื่อประมาณ พ.ศ.2475 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 

 

         ทั้งนี้ต่อมาภายหลังสงครามมหาเอเซียบูรพา สิ้นสุดลง (พ.ศ.2488) เมื่องสงครามโลกสงบใหม่ ๆ เศรษฐกิจฝืดเคืองข้าวยากหมากแพง มักมีขโมยลักลอบเข้าไปขุดสมบัติที่ในบริเวณอาณาเขตของวังหน้าที่ค้นพบกรุในครั้งแรก จนลักลอบนำออกมาขายในตลาดมืดจำนวนไม่น้อย ก่อนที่กรมศิลปากรจะได้ขึ้นบัญชี ณ สถานที่นี้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เพื่อจัดเตรียมสถานที่ทำเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติต่อไป

 

         จนกระทั่งปี พ.ศ.2507 เมื่อได้รับอนุมัติงบบูรณะวังหน้าโดยเฉพาะ จึงได้เริ่มทำการบูรณะซ่อมแซมวัดพระแก้ววังหน้า ซึ่งในครั้งนี้ทางกรมศิลปากรได้มุ่งทำการบูรณะครั้งใหญ่ในบริเวณที่เป็นอุโบสถวัดพระแก้ววังหน้า ซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต และพระพุทธสิหิงค์มาก่อน จากการสำรวจพบว่าฐานชุกชีเดิมที่เป็นปูนและโครงด้านในหมดอายุการใช้งานบูรณะไม่ได้จึงทำเรื่องขอทุบทิ้งทั้งหมดเพื่อก่อสร้างใหม่ตามแบบเดิม หลังจากได้อนุมัติแล้วจึงลงมือทันที

 

         ในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการเปิดกรุของ "พระกรุวังหน้า" อย่างเป็นทางการทั้งๆ ที่ก่อนน้านี้มีผู้ลักลอยเข้าไปขุดหาสมบัติมาหลายสิบปี จากบันทึกของกรมศิลปากร ที่เข้าไปสำรวจระบุหลักฐานไว้ดังนี้

 

         "การขุดฐานชุกชีหลังจากได้ทุบฐานไปแล้วพบกรุสมบัติอยู่ใต้ฐานชุกชี พบกรุพระซ้อนกันอยู่โดยเริ่มแต่ชั้นบนสุดลงไปจนถึงล่างสุด ลักษณะของกรุมีฝาผนึกทุกกรุและอยู่สลับกันไม่ทับซ้อนกัน ต้องใช้การทดสอบและประมาณการจากหลักโบราณคดีไทยจึงสามารถเปิดกรุได้ทั้งหมด" 

 

         ซึ่งพระพิมพ์ในกรุที่พบมีทั้ง พระบูชา, พระพิมพ์เนื้อชินแบบโคนสมอ พระพิมพ์เนื้อดินเผาของสมัยต่าง ๆ และ พระพิมพ์เนื้อดินเผาอีกแบบที่มีจำนวนน้อยกว่ากันมาก ได้แก่พระพิมพ์เนื้อดินเผาแบบที่มีลงรักปิดทองล่องชาดทุกองค์ ซึ่งก็คือ"พระกรุวังหน้า" นั่นเอง

 

         พระที่พบในกรุที่เป็นพระบูชาที่ไม่ชำรุดได้รับการนำเข้าไปไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วนพระโคนสมอ เนื้อดิน และเนื้อชิน ที่ส่วนใหญ่ ชำรุด ผุระเบิดไปตามกาลเวลานำออกให้ประชาชนเช่าบูชา

 

         ส่วนพระวังหน้าสามพิมพ์นี้บันทึกของกรมศิลปากรระบุชัดว่า "เนื่องจากเห็นว่าพระมีจำนวนน้อยจึงมิได้นำออกให้บูชาเหมือนกับพระอื่นๆ ที่พบในกรุเดียวกัน" 

 

         ซึ่งต่อมาหลังการก่อสร้าง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ แล้วเสร็จสมบูรณ์ กรมศิลปากรจึงได้นำสิ่งของทั้งหมดมาจัดตั้งแสดงโบราณวัตถุไว้จนปัจจุบัน

 

         จากการบันทึกของกรมศิลปากร ในครั้งนั้นพระกรุนี้มีอยู่ด้วยกันสามพิมพ์ คือ

 

         1. พิมพ์เศียรแหลม เป็นพระเนื้อดินเผาลงรักปิดทองล่องชาดขนาดเขื่องใหญ่โตไล่เลี่ยงกับพระโคนสมอ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งสมาธิอยู่บนฐานผ้าทิพย์ ฐานขาสิงห์ลดหลั่นกันมาอย่างงดงาม หากดูกันตามศิลปะและสกุลช่างแล้วน่าจะเป็นรัตนโกสินทร์ยุคต้น เหตุว่าพระกรุที่เป็นของอยุธยาแล้วจะไม่ปรากฏฐานผ้าทิพย์เช่นเดียวกับพระบูชา และจากการพบพระวัดสามปลื้มก็พบว่ามีพิมพ์เศียรแหลมและเศียรโล้นคล้ายกับพระกรุวังหน้าเสมือนว่าล้อพิมพ์หรือสร้างด้วยคติความนิยมที่คล้ายกัน

 

         2. พิมพ์เศียรโล้น เป็นพระเนื้อดินเผาเช่นเดียวกัน ลักษณะการประทับนั่งสมาธิและฐานเป็นศิลปะเดียวกับพิมพ์เศียรแหลม เพียงแต่ว่าไม่มีพระเกศเมาลีด้านบนคล้ายกับว่าเป็นพระพุทธสาวกแต่มีจำนวนน้อยกว่าพระพิมพ์แรกมาก ทำให้ในภายหลังค่านิยมในการสะสมสูงกว่า

 

         3. พิมพ์สี่เหลี่ยมไม่มีฐานผ้าทิพย์ เป็นพระเนื้อดินเผาทรงกรอบสี่เหลี่ยมปลายพระเศียรโผล่พ้นเส้นกรอบด้านบนขึ้นไปพระพักตร์ (หน้า) ใหญ่ ประทับนั่งสมาธิไม่มีบัวและฐานผ้าทิพย์รองรับ สำหรับพิมพ์นี้มีจำนวนน้อยมาก นาน ๆ จะได้พบสักองค์จะเรียกว่า "พระคะแนน" ก็เห็นจะไม่ผิดนัก

 

         นอกจากนี้ยังมีผู้พบพระปิดตาเนื้อครั่งจำนวนหนึ่ง ที่เรียกกันว่า " พระปิดตากรุวังหน้า" อีกด้วย

 

 

 

Visitors: 342,794