เหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ ร.ศ.๑๑๖

"เหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ ร.ศ.๑๑๖"

เหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ เป็นเหรียญที่ระลึกที่ปรากฏพระรูปของปฐมบรมราชินี หรือที่คนทั่วๆ ไป มักจะเรียกพระนามของพระองค์ว่า “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ” นั้น เหรียญแรก คือ เหรียญที่พระราชทานแจกเป็นที่ระลึกในงานสมโภชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากยุโรปใน ร.ศ.๑๑๖ ที่จัดขึ้นที่บริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์ต่อกับสวนเจ้าเชตุ

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ประทานเหรียญที่ระลึกนี้แก่ผู้ร่วมงาน ปัจจุบันนักสะสมเรียกเหรียญรุ่นนี้ว่า “เหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์” หรือ “เหรียญพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์” ตามบันทึกที่มีกล่าวถึงในจดหมายเหตุ "เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๑๖”

 

ด้านหน้า ด้านซ้ายเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ คู่กับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านบนมีห่วงเชื่อม

 

ด้านหลัง ตัวเลข “๓๐" ด้านบนคือ “เลขทับศก” (ตรงกับจำนวนปีที่ พระเจ้าแผ่นดินได้ครองราชย์ผ่านมา) ตัวเลข ๓๐ หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติมาแล้วถึงปีปัจจุบันคือ ๓๐ ปี นับถึง ร.ศ.๑๑๖ เหรียญที่ระลึกเหรียญนี้ ถือว่าเป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกที่ปรากฏพระรูปของ “ปฐมพระบรมราชินีนาถแห่งกรุงสยาม”

 

“สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ” หรือนายพันเอกหญิง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี” ท่านทรงเป็นสมเด็จราชินี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ในปี ร.ศ.๑๑๖ หรือตรงกับ พ.ศ.๒๔๔๐ พระองค์ทรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่ง “ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์” และทรงได้รับการสถาปนาพระราชอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระบรมราชินีนาถ”

 

ทั้งนี้ถือได้ว่าสมเด็จราชินี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็น “ปฐมบรมราชินีนาถแห่งกรุงสยาม” มีตำแหน่งเป็น “สมเด็จพระอัครมเหสี” ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) นอกจากนี้ ยังทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกา ของสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม ปัจจุบันคือ “สภากาชาดไทย” พระองค์แรกอีกด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

 

Visitors: 342,890