พระสมเด็จวัดระฆังฯ

พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์เจดีย์
ตามประวัติของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ในตอนก่อน จะเห็นได้ว่าท่านเป็นพระที่ไม่ยึดติดในยศศักดิ์และไม่มีภาระในการปกครองวัด ท่านจึงมีเวลาและมีอิสระในการออกธุดงค์เป็นเวลายาวนาน เป็นที่ยอมรับว่าท่านเป็นผู้ทรงคุณในทางวิปัสสนาธุระ เล่ากันว่าท่านเป็นศิษย์ของ ขรัวตาแสง วัดมณีชลขันธ์ จังหวัดลพบุรี ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงรับสั่งว่าเป็นผู้มีวิชา “เดินตั้งแต่เมืองลพบุรี ลงมาฉันเพลที่กรุงเทพฯ ได้” แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดในเรื่องนี้ส่วนสาเหตุของการสร้างพระสมเด็จฯ นั้นมี 2 กระแส คือ
กระแสแรก ว่ามีพระภิกษุในเมืองเขมรที่มีความนับถือในตัวท่าน อาราธนาขอให้สร้างพระพิมพ์เพื่อเป็นที่ระลึก เมื่อท่านกลับมาจึงสร้างพระสมเด็จฯ ตามที่ถูกร้องขอ ในเรื่องนี้น่าสงสัย คือ ในประเทศเขมรหรือกัมพูชานั้นไม่มีคติในการสร้างพระพิมพ์เลย เหตุใดพระภิกษุเขมรที่ว่าจึงมีแนวคิดขอให้ท่านสร้างพระเครื่องได้
อีกกระแสหนึ่ง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้ธุดงค์ไปจังหวัดกำแพงเพชร ในพ.ศ.2391 ได้พบแผ่นศิลาให้รายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างพระเจดีย์บรรจุพระพิมพ์ (พระซุ้มกอ พระเม็ดขนุน ฯลฯ) เมื่อกลับมากรุงเทพฯ (หลังจากนั้นได้กว่า 10 ปี ท่านจึงสร้างพระสมเด็จฯ ขึ้นมาแจกชาวบ้าน ในเรื่องนี้น่ารับฟังกว่าเพราะมีบันทึกหลักฐานดังที่ว่า อนึ่ง ตามคำบอกเล่าของ
เจ้าคุณธรรมถาวร (ช่วง) ลูกศิษย์ของสมเด็จฯ ทราบว่าท่านเริ่มพระพิมพ์ในราว พ.ศ.2409 เมื่อท่านมีอายุ 78 ปี สร้างอยู่ในราว 6 ปี จึงมรณภาพใน พ.ศ.2415

แม่พิมพ์พระสมเด็จ
พิมพ์มาตรฐานที่วงการพระยอมรับมีอยู่เพียง 5 พิมพ์ คือ
1. พิมพ์ใหญ่ สันนิษฐานว่านำรูปแบบมาจากพระประธานสมัยสุโขทัย
2. พิมพ์เจดีย์ มีลักษณะพุทธศิลปสกุลช่างเชียงแสน
3. พิมพ์เกศบัวตูม พุทธลักษณะคล้ายพระเชียงแสนสิงห์
4. พิมพ์ฐานแซม มีพุทธศิลปแบบพระบูชาสมัยอู่ทอง
5. พิมพ์ปรกโพธิ์ มีสองแบบ คือ แบบพิมพ์ฐานแซมกับพิมพ์เกศบัวตูม

ทุกพิมพ์เป็นพิมพ์พระพุทธประทับนั่งขัดสมาธิ มีฐานสามชั้น ไม่ปรากฏรายละเอียด ของพระพักตร์ นับว่าเป็นศิลป์สมัยใหม่คือ เป็นเพียงลายเส้น พระพิมพ์ก่อนหน้านั้นจะให้รายละเอียดมีพระเนตร พระนาสิก ฯลฯ ถือได้ว่าพระพิมพ์สมเด็จฯ มีพุทธศิลปแบบสมัยใหม่ มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง อีกทั้งทำด้วยผงวิเศษซึ่งนับว่าเป็นของใหม่ (ก่อนหน้านั้นจะทำด้วยดินหรือชิน)

เนื้อพระ
มวลสารของพระสมเด็จฯ ส่วนใหญ่เป็นปูนขาว ผสมผงพระพุทธคุณ คือ ผงมหาราช อิทธิเจ ปถมัง ตรีนิสิงเห ฯลฯ โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ทำผงกรรมวิธีแบบโบราณ คือ เขียนบนกระดานชนวน เขียนแล้วลบ รวบรวมผงนำมาสร้างพระ นอกจากนี้ยังมีอิทธิวัตถุอื่น เช่น ใบลานเผา ว่าน อิฐหัก ดอกไม้บูชาพระ ฯลฯ ทั้งหมดนำมาโขลกผสมประสานด้วยน้ำมันตังอิ้ว ทำให้เนื้อพระไม่เปราะหรือแตกหักง่าย
Visitors: 342,799