พระสมเด็จฯ วัดเกศไชโย พิมพ์ (A) 7 ชั้นนิยม

พระสมเด็จฯ วัดเกศไชโย พิมพ์ (A) 7 ชั้นนิยม

            พระสมเด็จฯที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โตพรหมรังษีสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลที่ 4 ติดต่อมาจนถึงต้นรัชกาลที่ 5 แม้จะมีอายุการสร้างเพียงร้อยกว่าปีแต่วงการนิยมพระเครื่องยกย่องให้เป็นจักรพรรดิ์แห่งพระเครื่องทั้งๆที่พระเครื่องเก่าๆนั้นเกิดขึ้นมานานแล้วทั้งมีอายุการสร้างเก่ากว่าพระสมเด็จฯเป็นร้อยๆปีแต่วงการนิยมพระเครื่องก็ยังยกย่องพระสมเด็จให้เป็นหนึ่ง

พระสมเด็จวัดเกศไชโยเป็น 1 ใน 3 ตระกูลพระสมเด็จที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โตพรหมรังสี) เมื่อสมเด็จฯท่านสร้างพระพิมพ์ 6 ชั้นและ 7 ชั้นแล้วได้นำไปบรรจุไว้ที่ฐานหรือองค์พระโตที่ท่านสร้างไว้ที่วัดไชโยวรวิหารอ.ไชโยจ.อ่างทองเมื่อพระโตได้พังทลายลงมาพระจึงเผยแพร่ออกมา

พระสมเด็จฯเกศไชโยน่าจะมีอายุการจัดสร้างไล่ๆกับพระสมเด็จฯวัดระฆังฯและพระสมเด็จฯบางขุนพรหมเหตุที่ว่านี้ก็เพราะได้มีการพบพระสมเด็จฯเกศไชโยบรรจุอยู่ในพระเจดีย์รวมกับพระสมเด็จฯวัดบางขุนพรหมด้วย

พิมพ์ของพระสมเด็จฯเกศไชโยมีเอกลักษณ์แตกต่างจากพระสมเด็จฯวัดระฆังฯและพระสมเด็จฯวัดบางขุนพรหมคือทุกพิมพ์ต้องมีกรอบกระจกและอกมีร่องหูบายศรี (ยกเว้นพิมพ์ 7 ชั้นอกตัน) อีกทั้งมีฐานมากกว่า 3 ชั้นคือมีฐาน 6 ชั้นและฐาน 7 ชั้น (บางท่านว่าบางพิมพ์มีฐาน 5 ชั้น)

พิมพ์ทรงของพระสมเด็จฯเกศไชโยมีดังนี้พิมพ์ 7 ชั้นได้แก่

1.พิมพ์ 7 ชั้นนิยม (พิมพ์ใหญ่)

2.พิมพ์ 7 ชั้นหูประบ่า

3.พิมพ์ 7 ชั้นไหล่ตรง

4.พิมพ์ 7 ชั้นนักเลงโต (แขนติ่ง)

5.พิมพ์ 7 ชั้นแข้งหมอน

6.พิมพ์ 7 ชั้นอกวี

7.พิมพ์ 7 ชั้นแขนกลม

8.พิมพ์ 7 ชั้นอกตัน

9.พิมพ์ 7 ชั้นพิมพ์ล่ำ

และ 10.พิมพ์ 7 ชั้นปรกโพธิ์

พิมพ์ 6 ชั้นได้แก่

1.พิมพ์ 6 ชั้นอกตัน

2.พิมพ์ 6 ชั้นอกตลอด

3.พิมพ์ 6 ชั้นแบบ 7 ชั้นนิยม

4.พิมพ์ 6 ชั้นไหล่ตรง

5.พิมพ์ 6 ชั้นล่ำอกตลอด

6.พิมพ์ 6 ชั้นเข่ากว้าง

7.พิมพ์ 6 ชั้นพิมพ์ต้อ

และพิมพ์ 5 ชั้น

เนื้อพระเป็นพระเนื้อผงขาวเช่นเดียวกับพระสมเด็จฯวัดระฆังและพระสมเด็จฯวัดบางขุนพรหมเนื้อพระละเอียดเพราะผ่านการกรองและตำผงมาอย่างดีมีมวลสารเป็นจุดสีขาวขุ่นจุดสีแดงอิฐและจุดสีดำคล้ายถ่านหรือใบลานเผาจุดสีน้ำตาลของเกสรดอกไม้

พระสมเด็จฯเกศไชโยมีคราบกรุบางหรือแทบไม่มีคราบกรุเลยเพราะถูกบรรจุไว้ในที่แห้งและอยู่ในกรุไม่นานนักจึงทำให้ดูเหมือนว่ามีอายุน้อยกว่าพระสมเด็จฯวัดระฆังหรือวัดบางขุนพรหมแต่พระที่ถูกใช้สัมผัสจะหนึกนุ่มและเนื้อจัดพระที่ไม่ใช้จะแห้งและสีออกขาวพระบางองค์แตกลายงาพิจารณาโดยรวมแล้วเนื้อพระจะละเอียดและแข็งกว่าของพระสมเด็จฯอีกสองสำนัก

Visitors: 342,543