เหรียญพระพุทธสิหิงค์ วัดราชประดิษฐ์ กรุงเทพ รุ่นแรก ปี2460

           เนื่องในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ได้มีการจัดสร้าง "เหรียญปั๊มพระพุทธสิหิงค์" โดยให้ชื่อรุ่นว่า "ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี" เพื่อร่วมเป็นที่ระลึกฉลองกรุง นับได้ว่าเป็นเหรียญปั๊มที่มีความสวยงามและเป็นเหรียญพระพุทธที่ได้รับความนิยมในแวดวงนักสะสมพระเครื่องพระบูชาเป็นอย่างมาก เหรียญปั๊มพระพุทธสิหิงค์ รุ่นฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
           ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ หูเชื่อม ด้านหน้า ยกขอบเป็นเส้นลวดโดยรอบ ตรงกลางเป็นรูปจำลองพระพุทธสิหิงค์ปฏิมากรประทับปางสมาธิเหนืออาสนะฐานบัว 2 ชั้น จารึกอักษรไทยว่า "พระพุทธสิหิงค์" พื้นเหรียญเป็นลายดอกไม้ร่วง ด้านหลัง เป็นพื้นเรียบ ตรงกลางมีอักขระขอม 2 แถว ด้านบนและล่างประดับลวดลายไทย เป็นเหรียญที่มีพุทธลักษณะเรียบง่าย แต่คงไว้ซึ่งความงามสง่าในทีด้วยรูปจำลองพระพุทธสิหิงค์ปฏิมากร เหรียญปั๊มพระพุทธสิหิงค์ รุ่นฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม นี้ แม้เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสูง แต่จำนวนการจัดสร้างไม่มากนัก พบเห็นได้ยากในวงการนักสะสมพระเครื่องปัจจุบัน
           พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปโบราณศิลปะแบบลังกา ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าสีหฬะ พระมหากษัตริย์แห่งลังกาทวีปทรงสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 700 ต่อมา พระเจ้าศรีธรรมโศกราชแห่งราชอาณาจักรตามพรลิงก์ได้ไปขอมาถวายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมา ได้มีผู้นำไปไว้ที่เมืองกำแพงเพชรและเชียงราย เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่เชียงใหม่พร้อมกับพระแก้วมรกต เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ. 2205 ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานถึง 105 ปี
          เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แก่พม่าใน พ.ศ. 2310 ชาวเชียงใหม่ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปที่เชียงใหม่ เมื่อมณฑลพายัพได้กลับมาเป็นของไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. 2338 โดยประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นพระที่นั่งภายใน พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)

           ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ที่ทรงมีพระราชศรัทธาอย่างยิ่งมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถของวัดราชประดิษฐสถิตย์สีมาราม แต่ก็ทรงปรารภว่าพระพุทธสิหิงค์เคยประดิษฐานในพระราชวังซึ่งเป็นที่สูงศักดิ์อยู่เเล้ว ไม่ควรจะอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัด จึงโปรดเกล้าฯ ให้นายช่างหล่อจำลองพระพุทธสิหิงค์ขนาดใหญ่กว่าองค์จริงด้วยโลหะสัมฤทธิ์แล้วกะไหล่ทองทับทั่วองค์ พร้อมถวายพระนามว่า "พระพุทธสิหังคปฏิมากร" แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานภายในบุษบกใหญ่ เป็นพระประธานของพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐสถิตมหาเสมารามจนถึงปัจจุบันนี้

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

Visitors: 341,945