เหรียญแตงโม หลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง ปี 2517 เนื้อทองคำ

เหรียญแตงโม หลวงพ่อเกษมเขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ .ลำปาง ปี 2517 เนื้อทองคำ

            เหรียญแตงโม หลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2517   เพื่อเป็นที่ระลึกในงานฉลองอนุสาวรี จ้าวแม่สุชาดา หลวงพ่อเกษม ทำพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสก  

            ลักษณะเป็นเหรียญปั้มรูปทรงหัวใจ หูในตัว ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเกษมหน้าตรงครึ่งองค์ ด้านข้างซ้ายหลวงพ่อมีอักษรไทยเขียนว่า “ภิกษุเกษมเขมโก” ด้านข้างขวาหลวงพ่อเป็นอักษรภาษาขอมอ่านว่า “ภิกษุเกษมเขมโก” ด้านล่างหลวงพ่อมีอักษรไทยเขียนว่า “สุสานไตรลักษณ์ จังหวัดลำปาง ด้านหลังเหรียญตรงกลางเป็นรูปแตงโมมีอักขระยันต์ ด้านบนมีอักษรไทยเขียนว่า “ที่ระลึกในงานฉลองอนุสาวรี จ้าวแม่สุชาดา ๙ เมษายน ๒๕๑๗”       

            จำนวนการสร้างมี 4 เนื้อ ได้แก่

1.เนื้อทองคำ 107 เหรียญ

2.เนื้อเงิน 1,500 เหรียญ

3.เนื้อนวโลหะ 108 เหรียญ

4.เนื้อทองแดง 50,000 เหรียญ

 

            หลวงพ่อเกษม เขมโก หรือ ครูบาเจ้าเกษม เขมโก นามเดิม เจ้าเกษม ณ ลำปาง เกิดเมื่อวันพุธที่ 28 พฤศจิกายน 2455 ณ บ้านท่าเก๊าม่วงริมแม่น้ำวัง จ.ลำปาง สายตระกูลทั้งบิดา มารดา เป็นหลานของเจ้าบุญวาทย์ วงศ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย

            หลวงพ่อเกษม เขมโก จบชั้นประถมปีที่ 5 จากโรงเรียนบุญทวงศ์อนุกุล ปัจจุบันคือ โรงเรียนเทศบาล 3 อ.เมือง จ.ลำปาง เมื่อออกจากโรงเรียนก็ไม่ได้เรียน

            ในปี พ.ศ.2468 อายุขณะนั้นได้ 13 ปี ก็ได้มีโอกาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ โดยบรรพชาเป็นสามเณร เนื่องในโอกาสบรรพชาหน้าศพ (บวชหน้าไฟ) ของเจ้าอาวาสวัดป่าดั๊ว ครั้นบวชได้เพียง 7 วันก็ลาสิกขาออกไป 

            ในปี พ.ศ.2470 ขณะนั้นมีอายุ 15 ปี ก็ได้มีโอกาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้งหนึ่ง โดยบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบุญยืน จ.ลำปาง เมื่อบรรพชาแล้วสามเณรเจ้าเกษม ณ ลำปาง ก็ได้จำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดบุญยืน

            ในปี พ.ศ.2475 ครั้นมีอายุได้ 21 ปี  ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีเจ้าคุณพระธรรมจินดานายกเจ้าคณะจังหวัด เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูอุตรวงศ์ธาดา วัดหมื่นกาด เป็นพระกรรมวาจา ได้ฉายาว่า “เขมโก” แปลว่า ผู้มีธรรมอันเกษม 

            หลังจากได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ก็ได้ศึกษาทางด้านภาษาบาลี ซึ่งเป็นการศึกษาปริยัติอีกแขนงหนึ่ง ที่สำนักวัดศรีล้อม สมัยนั้นก็มีอาจารย์หลายรูป เช่น มหาตาคำ พระมหามงคลเป็นครูผู้สอน และยังได้ไปศึกษาที่สำนักวัดบุญวาทย์วิหาร ซึ่งมีพระมหามั่ว พรหมวงศ์ และพระมหาโกวิทย์ โกวิทญาโน เป็นครูสอน ในเวลาเดียวกันนั้นก็ได้ไปศึกษาทางด้านปริยัติในแผนกนักธรรมต่อที่สำนักวัดเชียงราย ครูผู้สอนคือ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิโสภณ เจ้าคณะจังหวัดลำปางสมัยนั้น 

            ในปี พ.ศ. 2495 หลวงพ่อได้ประจำอยู่ที่ ป่าช้าประตูม้า ซึ่งตอนหลังเรียกว่า สุสานไตรลักษณ์ ตามชื่อที่หลวงพ่อตั้งให้ เพื่อชี้ให้เห็นสัจธรรมตามกฎของธรมชาติว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

            หลวงพ่อเกษม เขมโก เป็นพระสงฆ์ที่มุ่งสู่การปฏิบัติ ได้เจริญกรรมฐาน ปฏิบัติตามรอยพระพุทธองค์ ท่านมีความอดทน ต่อสู้กับธรรมชาติ ต่อสู้กับกิเลส และมีเมตตาต่อญาติธรรม ประชาชนผู้ทุกข์ยากต่างๆ มากมาย เชื่อกันว่า หลวงพ่อเกษม เขมโก ได้ปฏิบัติธรรม อานิสงส์ สิบเอ็ด คือ ทานบารมี อุเบกขาบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมี อิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี เมตตาบารมี อธิษฐานบารมี และอานิสงส์ในการบรรพชา

            หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านได้ปฏิบัติธรรมจนเป็นพระที่ขาวสะอาด และเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วประเทศ ศีลบริสุทธิ์ตามพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นพระไม่ติดยึดใคร ต้องการอะไร ขออะไร ไม่เคยปฏิเสธ จนสังขารของท่านดูแล้วไม่แข็งแรง แต่จิตของหลวงพ่อแข็งแรง และท้ายที่สุดหลวงพ่อเกษม เขมโก ได้ละสังขาร เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2539 สิริอายุ 83 ปี

 

 

Visitors: 342,668