หมากทุย หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง กรุงเทพฯ

หมากทุย หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง กรุงเทพฯ

            หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง กรุงเทพฯ ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง เช่น พระเครื่องประเภทเหรียญ พระชัยวัฒน์ พระปิดตาเนื้อไม้แกะ กับพระปิดทวารโลหะ พระปิดตาเนื้อผงพุทธคุณ ตะกรุด แต่สำหรับเครื่องรางแล้ว "หมากทุย" ของหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เป็นเครื่องรางที่มีชื่อเสียงที่สุด
            หลวงปู่เอี่ยม ท่านคงจะทำเครื่องรางมาก่อนที่จะสร้างพระเครื่อง ตั้งแต่ครั้งยังอยู่ที่วัดโคนอน เนื่องจากการทำนั้นทำให้ทุกวาระ เมื่อมีชาวบ้านมาขอให้ท่านทำไว้และหาวัสดุมา ท่านก็ทำให้ การสร้างหมากทุยนั้นท่านคง จะสร้างเมื่อตอนที่มาอยู่ที่วัดหนังแล้ว วัดหนังนั้นอยู่ย่านตลาดพลู บางขุนเทียน แถบนั้นในสมัยก่อนเป็นสวน ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มีอาชีพทำสวน ปลูกผักผลไม้ หมากพลู และคงมีสวนหมากสวนพลูมาก จนได้ชื่อว่า "ตลาดพลู"

            หมากทุย คือ หมากที่ยืนต้นตายพราย หมากที่ยืนต้นตายแต่ยังมีลูกติดทะลายอยู่ มักจะเป็นลูกเล็กๆ ต้นหมากนั้นตามปกติตายยากจะมีอายุยืน ที่จะตายได้ก็มีเพียงน้ำท่วมขังนานๆ หรือไม่ก็ถูกลมพัดหักกลางต้น แต่ถ้าหากหมากนั้นอยู่ดีๆ ก็ตายแห้งกรอบเหลืองทั้ง ที่จั่นติดลูกดกพราว หมากนั้นเป็นหมาก "หมากตายพราย" ให้นำมาทำเครื่องรางที่เรียกว่า "หมากทุย"

            สำหรับวีธีการสร้างหมากทุยของหลวงปู่เอี่ยมวัดหนัง หรือ เจ้าคุณเฒ่านั้น ประการแรกพระอาจารย์จะให้ศิษย์ไปขึ้นต้นหมาก เพื่อเอาลูกหมากที่ตายพรายลงมา เมื่อได้ลูกตายพรายมาแล้วก็เปิดจุกด้านบนคว้านเอาเนื้อหมากด้านในออกให้หมด เพื่อจะบรรจุตะกรุด กระดาษสา 

            หลวงปู่เอี่ยมท่านจะลงอักขระนะปถมังก่อน ซึ่งอยู่ตรงกลางแผ่นยันต์ มุมทั้งสี่จะลงด้วย นะโม พุท ธา ตัวยะจะอยู่ตรงกลางตัวนะปถมัง ด้านบนตัวนะฯ จะลงอักขระ มะ อุ อะ ต่อยอดด้วยอุณาโลม ด้านล่างตัวนะฯ จะลงด้วย นะ มะ พะ ทะ บรรทัดตรงกลางจะลง อักขระ อุท ธัง อัท โธ โดยมีตัวนะปถมังอยู่ตรงกลางระหว่างอักขระ จากนั้นท่านจึงทำการปลุกเสกอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจึงม้วนตะกรุดกระดาษสาบรรจุลงในหมากทุย พอเสร็จสรรพจึงอุดด้วยชันโรงใต้ดิน แล้วนำไปถักเชือกหุ้มอีกชั้นหนึ่ง แล้วลงรักเคลือบผิว  พร้อมกับว่าคาถาบรรจุด้วย

            กล่าวได้ว่าเมื่อนำติดตัวจะช่วยป้องกัน ทางด้านมหาอุด คงกระพัน แคล้วคลาดและยังป้องกันภูติผีปีศาจ ให้หมั่นปลุกเสกกำกับด้วยคาถาพระเจ้าห้าพระองค์ว่า "นะโม พุทธายะ" อยู่เสมอ 

 

Visitors: 341,954