พระสมเด็จอรหัง สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) หลังจาร “อรหัง”

พระสมเด็จอรหัง สมเด็จพระสังฆราช (สุกไก่เถื่อน) หลังจารอรหัง

            พระสมเด็จอรหัง สมเด็จพระสังฆราช สุก ญาณสังวร (ไก่เถื่อน) เป็นผู้สร้างไว้ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ 

            “พระสมเด็จอรหัง” ถือเป็นต้นแบบพระเครื่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบ “ชิ้นฝัก” เป็นพระต้นสกุลพระพิมพ์สมเด็จที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทั้งหมด ประมาณว่าได้มีการสร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2360 (ที่วัดพลับ) แล้วนำมาบรรจุไว้ที่วัดมหาธาตุ เมื่อพ.ศ.2363 และนอกจากจะพบพระสมเด็จอรหังที่วัดมหาธาตุแล้ว ที่วัดสร้อยทองก็ยังมีผู้พบด้วยเช่นกัน

            พระสมเด็จอรหัง พบมีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์และหลายเนื้อ กล่าวคือ มีพระพิมพ์ฐานสามชั้น (พิมพ์สังฆาฏิ) พระพิมพ์สามชั้นเกศอุ พระพิมพ์ฐานคู่ พระพิมพ์เล็กฐานสามชั้นมีประภามณฑล และพระพิมพ์เล็กฐานสามชั้นไม่มีประภามณฑล 

            ส่วนเนื้อเป็นเนื้อปูนเปลือกหอย แบบออกขาวละเอียด เนื้อขาวหยาบมีเม็ดทราย เนื้อขาวหยาบออกอมสีเขียวก้านมะลิ และยังมีประเภทเนื้อออกสีแดงเรื่อๆ พระสีนี้มักจะมีเนื้อหยาบ สันนิษฐานว่าอาจจะมีการผสมปูนกินหมากหรือพิมเสนเข้าไป เมื่อผสมกับปูนเปลือกหอยทำให้เนื้อมวลสารกลายเป็นสีแดง

            พระส่วนใหญ่มักจะมีจารคำว่า “อรหัง” เป็นอักษรขอมไว้ที่ด้านหลัง แต่ที่ไม่เขียนเลยก็มีบ้างเป็นส่วนน้อย และมีส่วนหนึ่งที่ด้านหลังเป็นตราประทับคำว่า “อรหัง” กดที่ด้านหลังแทนการเขียน เนื้อสีแดงคล้ายปูนแห้ง ส่วนใหญ่พบที่วัดสร้อยทอง นักนิยมพระเครื่องมักเรียกหลังแบบนี้ว่า “หลังโต๊ะกัง” 

 

            สมเด็จพระสังฆราช สุก ญาณสังวร (ไก่เถื่อน) ตามประวัติท่านประสูติกาลเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช 1095 (พ.ศ. 2276) ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกศ เดิมอยู่ที่วัดท่าหอย ริมคูจาม แขวงพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดอาราธนามาครองวัดพลับแล้วทรงสถาปนาให้เป็นพระราชาคณะที่ พระญาณสังวร ด้วยมีพระราชดำริว่า เป็นพระคณาจารย์ผู้ช่ำชองพระกัมมัฏฐาน เป็นที่เคารพสักการะแห่งชนทั้งหลาย ทรงไว้ซึ่งพรหมวิหารธรรม 

            เล่าลือกันว่า สมเด็จพระสังฆราชสุก ท่านมีเมตตาแก่กล้า ถึงกับสามารถเลี้ยง “ไก่เถื่อน” ให้ เชื่องได้เสมอด้วยไก่บ้าน ทำนองเดียวกับสรรเสริญกถาเรื่องพระสุวรรณสามโพธิสัตว์ ในชาดก ฉะนั้น คนทั้งหลายจึงพากันถวายพระเกียรตินามว่า “สังฆราชสุกไก่เถื่อน”

 

Visitors: 342,520