เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง จ.ภูเก็ต พิมพ์หลังยันต์วรรค ปี 2486 เนื้อทองแดงรมดำ

เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง.ภูเก็ต พิมพ์หลังยันต์วรรค ปี 2486 เนื้อทองแดงรมดำ

            เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง จ.ภูเก็ต หลังยันต์วรรค จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2486 หลังจากท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2451 หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา สร้างเหรียญวัตถุมงคลพิมพ์สี่เหลี่ยมหลวงพ่อแช่มขึ้น ราวปี พ.ศ.2473 ต่อมาปี พ.ศ.2486 หลวงพ่อช่วง วัดท่าฉลอง ศิษย์เอกของท่าน ได้สร้างเหรียญ ที่ระลึกขึ้น นับเป็นเหรียญรุ่นแรก 

            ลักษณะเป็นเหรียญปั้มทรงรูปไข่ หูในตัว ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อแช่มครึ่งองค์หันหน้าตรง ขอบบนจารึกข้อความว่า “หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง” ด้านล่างใต้รูปเหมือน จารึกปีที่จัดสร้าง “พ.ส.2486” ด้านหลังเหรียญเป็นยันต์ 3 แถว ยันต์แถวที่ 2 เว้นวรรคตรงกลาง เป็นที่มาของชื่อ “ยันต์วรรค”

 

            "หลวงพ่อแช่ม" วัดฉลอง ภูเก็ต ท่านเกิดที่ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เมื่อปีกุน พุทธศักราช 2370 ในรัชสมัยของ"พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" (รัชกาลที่ 3) (นามโยมบิดา-มารดา) ไม่ปรากฏในประวัติ แม้แต่ "หลวงพ่อช่วง" วัดท่าฉลอง ศิษย์เอกของท่านก็ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ 

            ในวัยเด็ก พ่อแม่ท่านส่งให้อยู่ ณ วัดฉลอง เป็นศิษย์ของพ่อท่านเฒ่าตั้งแต่เล็ก เมื่อมีอายุพอจะบวชได้ก็บวชเป็นสามเณร และ ต่อมาเมื่ออายุถึงที่จะบวชเป็นพระภิกษุ ก็บวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ณ วัดฉลองนี้หลวงพ่อแช่มได้ศึกษาวิปัสนาธุระจากพ่อท่านเฒ่าจนเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางวิปัสนาธุระเป็นอย่างสูง ความมีชื่อเสียงของหลวงพ่อแช่มปรากฏชัดในคราวที่หลวงพ่อแช่มเป็นหัวหน้าปราบอั้งยี่ 

            ในปีพุทธศักราช 2419 กรรมกรเหมืองแร่เป็นจำนวนหมื่น ในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงได้ซ่องสุมผู้คนก่อตั้งเป็นคณะขึ้นเรียกว่า อั้งยี่ โดยเฉพาะพวกอั้งยี่ในจังหวัดภูเก็ตก่อเหตุวุ่นวายถึงขนาดจะเข้ายึดการปกครองของจังหวัดเป็นของพวกตน ทางราชการในสมัยนั้นไม่อาจปราบให้สงบราบคาบได้ พวกอั้งยี่ถืออาวุธรุกไล่ ยิง ฟันชาวบ้านล้มตายลงเป็นจำนวนมากชาวบ้านไม่อาจต่อสู้ป้องกันตนเองและทรัพย์สิน ที่รอดชีวิตก็หนีเข้าป่าไป เฉพาะในตำบลฉลองชาวบ้านได้หลบหนีเข้าป่า เข้าวัด ทิ้งบ้านเรือนปล่อยให้พวกอั้งยี่เผาบ้านเรือนหมู่บ้านซึ่งพวกอั้งยี่เผา ได้ชื่อว่า บ้านไฟไหม้ จนกระทั่งบัดนี้

            ชาวบ้านที่หลบหนีเข้ามาในวัดฉลอง เมื่อพวกอั้งยี่รุกไล่ใกล้วัดเข้ามา ต่างก็เข้าไปแจ้งให้หลวงพ่อแช่มทราบ และนิมนต์ให้หลวงพ่อแช่ม หลบหนีออกจากวัดฉลองไปด้วย หลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนี ท่านว่า ท่านอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่เด็กจนบวชเป็นพระ และเป็นเจ้าวัดอยู่ขณะนี้ จะให้หนีทิ้งวัดไปได้อย่างไร

            เมื่อหลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนีทิ้งวัด ชาวบ้านต่างก็แจ้งหลวงพ่อแช่มว่า เมื่อท่านไม่หนีพวกเขาก็ไม่หนีจะขอสู้มันละ พ่อท่านมีอะไรเป็นเครื่องคุ้มกันตัวขอให้ทำให้ด้วย หลวงพ่อแช่มจึงทำผ้าประเจียดแจกโพกศีรษะคนละผืน เมื่อได้ของคุ้มกันคนไทยชาวบ้านฉลองก็ออกไปชักชวนคนอื่นๆ ที่หลบหนีไปอยู่ตามป่า กลับมารวมพวกกันอยู่ในวัด หาอาวุธ ปืน มีด เตรียมต่อสู้กับพวกอั้งยี่

            พวกอั้งยี่ เที่ยวรุกไล่ฆ่าฟันชาวบ้าน ไม่มีใครต่อสู้ก็จะชะล่าใจ ประมาทรุกไล่ฆ่าชาวบ้านมาถึงวัดฉลอง ชาวบ้านซึ่งได้รับผ้าประเจียดจากหลวงพ่อแช่มโพกศีรษะไว้ก็ออกต่อต้านพวกอั้งยี่ พวกอั้งยี่ไม่สามารถทำร้ายชาวบ้านก็ถูกชาวบ้านไล่ฆ่าฟันแตกหนีไป ครั้งนี้เป็นชัยชนะครั้งแรกของไทยชาวบ้านฉลอง ข่าวชนะศึกครั้งแรกของชาวบ้านฉลอง รู้ถึงชาวบ้านที่หลบหนีไปอยู่ที่อื่น ต่างพากลับมายังวัดฉลอง รับอาสาว่า ถ้าพวกอั้งยี่มารบอีกก็จะต่อสู้ ขอให้หลวงพ่อแช่มจัดเครื่องคุ้มครองตัวให้ หลวงพ่อแช่มก็ทำผ้าประเจียดแจกจ่ายให้คนละผืน พร้อมกับแจ้งแก่ชาวบ้านว่า "ข้าเป็นพระสงฆ์จะรบราฆ่าฟันกับใครไม่ได้ พวกสูจะรบก็คิดอ่านกันเอาเอง ข้าจะทำเครื่องคุณพระให้ไว้สำหรับป้องกันตัวเท่านั้น" ชาวบ้านเอาผ้าประเจียดซึ่งหลวงพ่อแช่มทำให้โพกศีรษะเป็นเครื่องหมายบอกต่อต้านพวกอั้งยี่

            พวกอั้งยี่ให้ฉายาคนไทยชาวบ้านฉลองว่า พวกหัวขาว ยกพวกมาโจมตีคนไทยชาวบ้านฉลองหลายครั้ง ชาวบ้านถือเอากำแพงพระอุโบสถเป็นแนวป้องกัน อั้งยี่ไม่สามารถตีฝ่าเข้ามาได้ ภายหลังจัดเป็นกองทัพเป็นจำนวนพัน ตั้งแม่ทัพ นายกอง มีธงรบ ม้าล่อ เป็นเครื่องประโคมขณะรบกัน ยกทัพเข้าล้อมรอบกำแพงพระอุโบสถ ยิงปืน พุ่งแหลน พุ่งอีโต้ เข้ามาที่กำแพง เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่บรรดาชาวบ้านซึ่งได้เครื่องคุ้มกันตัวจากหลวงพ่อแช่มต่างก็แคล้วคลาดไม่ถูกอาวุธของพวกอั้งยี่เลย

            รบกันจนเที่ยงพวกอั้งยี่ยกธงขอพักรบ ถอยไปพักกันใต้ร่มไม้หุงหาอาหาร ต้มข้าวต้มกินกัน ใครมีฝิ่นก็เอาฝิ่นออกมาสูบ อิ่มหนำสำราญแล้วก็นอนพักผ่อนชาวบ้านแอบดูอยู่ในกำแพงโบสถ์ เห็นได้โอกาสในขณะที่พวกอั้งยี่เผลอก็ออกไปโจมตีบ้าง พวกอั้งยี่ไม่ทันรู้ตัวก็ล้มตายและแตกพ่ายไป

            หัวหน้าอั้งยี่ประกาศให้สินบน ใครสามารถจับตัวหลวงพ่อแช่มวัดฉลองไปมอบตัวให้จะให้เงินถึง 5,000 เหรียญ เล่าลือกันทั่วไปในวงการอั้งยี่ว่า คนไทยชาวบ้านฉลองซึ่งได้รับผ้าประเจียดของหลวงพ่อแช่มโพกศีรษะ ล้วนแต่เป็นยักษ์มารคงทนต่ออาวุธ ไม่สามารถทำร้ายได้ ยกทัพมาตีกี่ครั้งๆ ก็ถูกตีโต้กลับไป ในทุกครั้ง จนต้องเจรจาขอหย่าศึกยอมแพ้แก่ชาวบ้านศิษย์หลวงพ่อแช่มโดยไม่มีเงื่อนไข

            คณะกรรมการเมืองภูเก็ต ได้ทำรายงานกราบทูลไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะกรรมการเมืองนิมนต์หลวงพ่อแช่ม ให้เดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร มีพระประสงค์ทรงปฏิสันฐานกับหลวงพ่อแช่มด้วยพระองค์เอง

            หลวงพ่อแช่มและคณะเดินทางถึงกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสมฌศักดิ์หลวงพ่อแช่ม เป็นพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญานมุนี ให้มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต อันเป็นตำแหน่งสุงสุดซึ่งบรรพชิตจักพึงมีในสมัยนั้น ในโอกาสเดียวกัน ทรงพระราชทานนามวัดฉลองเป็นวัดไชยาธาราราม

            หลวงพ่อแช่ม ท่านมรณภาพ วันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2451

 

Visitors: 342,740