เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า

            “เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า” ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2416 ด้วยทรงเห็นว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทรงอยู่ในราชสมบัติยั่งยืนนานมาเป็นเวลา 90 ปี เพราะด้วยความจงรักภักดีและการปฏิบัติราชการของพระบรมวงศานุวงศ์และบรรดาขุนนางข้าราชการทั้งปวง ทั้งมีพระราชประสงค์จะทรงชุบเลี้ยงบรรดาทายาทของบุคคลเหล่านี้ ให้มีความเจริญรุ่งเรืองในราชการสืบเนื่องต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทายาทของผู้ได้รับพระราชทานสามารถรับพระราชทานตราสืบตระกูลของบิดาได้ โดยพระราชทานนามพระองค์ “จุลจอมเกล้า” เป็นนามของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ พร้อมทรงคิดคำขวัญจารึกบนดวงตราว่า “เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ”

            เมื่อแรกสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้านั้น สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ปฐมจุลจอมเกล้า) ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ, ทุติยจุลจอมเกล้า) และชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ตติยจุลจอมเกล้า , ตติยานุจุลจอมเกล้า) ซึ่งจะพระราชทานให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้าเท่านั้น ครั้นเมื่อปี 2443 พระองค์มีพระราชดำริเห็นสมควรเพิ่มชั้นพิเศษสำหรับชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้าอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้เป็นเกียรติยศและประโยชน์แก่ผู้รับราชการยิ่งขึ้น เรียกว่า ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ และในปี 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นที่ 3 ขึ้นเป็นพิเศษ เรียกว่า ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เพื่อพระราชทานแก่ข้าราชการฝ่ายหน้าเพิ่มขึ้นอีกชั้น

            สำหรับฝ่ายในนั้น พระองค์ทรงสร้างกล่องหมากและหีบหมากเป็นเครื่องยศสำหรับพระราชทานฝ่ายในทำนองเดียวกันกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า ไม่จำกัดจำนวน แต่ไม่ได้พระราชทานโดยทางสืบสกุล สามารถแบ่งเป็น 3 ชั้น 4 ชนิด มีลักษณะดังนี้

  • ชั้นที่ 1 กล่องปฐมจุลจอมเกล้า เป็นกล่องหมากทำด้วยเงินกาไหล่ทองจำหลักเป็นลายชัยพฤกษ์พื้นลงยาสีขาบ ฝากล่องมีดวงดาราปฐมจุลจอมเกล้าอยู่กลางอยู่กลาง มีขอบนอกเป็นอีกษรว่า “การพระราชพิธีบรมราชภิเษก ปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕” มีตลับข้างใน 4 ใบจัดเป็นครึ่งซีกตามรูปกล่อง
  • ชั้นที่ 2 กล่องทุติยจุลจอมเกล้า มีลักษณะเช่นเดียวกับชั้นที่ 1 แต่กลางฝากล่องเป็นดวงดาราวิเศษของตราทุติยจุลจอมเกล้า และมีตลับด้านในเพิ่มเป็นส่วนพิเศษบ้าง
  • ชั้นที่ 3 ชนิดที่ 1 หีบตติยจุลจอมเกล้า เป็นหีบหมากเงินกาไหล่ทองจำหลักเป็นลายชัยพฤกษ์พื้นลงยาสีขาบ ฝาหีบมีอักษรย่อเช่นเดียวกับชั้นที่ 1 ตรงกลางมีรูปดวงตราตติยจุลจอมเกล้าแต่ตรงพระบรมรูปจำหลักเป็นอักษรพระนาม จจจ (จุฬาลงกรณ์จุลจอมเกล้า)ไขว้กันแทน
  • ชั้นที่ 3 ชนิดที่ 2 เป็นหีบหมากเช่นเดียวกับชั้นที่ 3 แต่เป็นเงินล้วน ไม่ได้ลงยากาไหล่ทอง

            หลังจากนั้น ในปี 2436 พระองค์พระราชดำริสมควรที่จะทรงสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายในขึ้น เพื่อให้สมาชิกผู้ได้รับพระราชทานได้ประดับตนเป็นที่แสดงเกียรติยศเพิ่มขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 4 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า และชั้นที่ 4 จตุตถจุลจอมเกล้า และเมื่อปี 2442 ทรงพระราชดำริให้เพิ่มเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสำหรับฝ่ายในในชั้นที่ 2 ขึ้นอีก 1 ชนิด เรียกว่า ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เพื่อให้มีจำนวนชนิด 5 ชนิด (ในขณะนั้น) เช่นเดียวกับสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า

            ทั้งนี้กฎหมายได้บัญญัติการจำแนกเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทฝ่ายหน้าสำหรับบุรุษ และประเภทฝ่ายในสำหรับสตรี คำว่าฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เรียกตามตำแหน่งที่เคยจัดให้เฝ้าแต่สมัยโบราณ ทั้งยังได้กำหนดจำนวนเครื่องราชฯ ในตระกูลนี้ในแต่ละชั้นตราไว้เป็นการแน่นอน หากชั้นตราใดมีผู้ได้รับพระราชทานเต็มตามจำนวนแล้ว ก็จะไม่พระราชทานชั้นตรานั้นแก่ผู้อื่นอีก ชั้นตราจะว่างก็ต่อเมื่อผู้ได้รับพระราชทานอยู่เดิมสิ้นชีวิตหรือได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นตราสูงขึ้น โดยญาติผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นตราสูงขึ้น ต้องมีหน้าที่ส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นจุลจอมเกล้าที่ได้รับพระราชทานหรือชั้นรองตามกฎหมายแก่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

            โดยผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าในแต่ละชั้น จะได้รับพระราชทานเครื่องยศเหมือนขุนนางในสมัยก่อน ซึ่งมีการเปรียบเทียบได้ดังนี้ 

            ชั้น ปฐมจุลจอมเกล้า มีบรรดาศักดิ์เสมอ ขุนนางชั้น เจ้าพระยา 

            ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ – ทุติยจุลจอมเกล้า มีบรรดาศักดิ์เสมอ ขุนนางชั้น พระยาพานทอง 

            ชั้น ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ มีบรรดาศักดิ์เสมอ ขุนนางชั้น พระยาโต๊ะทอง

            สำหรับธรรมเนียมการพระราชทานในปัจจุบัน แม้เดิมทีจะมีพระราชดำริจะพระราชทานแต่เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายขอบเขตการพระราชทานไปยังผู้ทำประโยชน์อื่นๆ ทั้งในราชการแผ่นดินและในราชการส่วนพระองค์ด้วย เช่น พ่อค้าวาณิช และคู่สมรสของผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง เป็นต้น

           

ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

 

Visitors: 341,545