พระคง จ.ลำพูน

พระคง จ.ลำพูน

            "พระคง หรือ พระลำพูน" หนึ่งในพระชื่อดังของลำพูน พบที่กรุวัดพระคงฤาษี หรือ วัดอนันทราม จ.ลำพูน ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ทางทิศเหนือ มีสุเทวะฤาษี เป็นผู้รักษาเมือง พระสกุลลำพูนที่พบ ณ กรุแห่งนี้ สันนิษฐานว่าเป็นพระสมัยเดียวกันกับพระรอด และสร้างโดยสุเทวะฤาษี เช่น เดียวกัน
            ตามความหมายแล้ว "คง" หมายถึง การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าภายใต้ซุ้มโพธิ์ที่พุทธคยา 
ดังนั้น จึงมีพุทธศิลปะที่งดงามสง่า องค์พระประธานประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัยภายในซุ้มใบโพธิ์ เหนืออาสนะฐานบัวเม็ด เป็นจุดไข่ปลาเรียงอยู่ด้านหน้าโดยรอบ 2 ชั้น
พื้นผนังโพธิ์ด้านหลังมีความประณีตและอ่อนพลิ้วงดงามมาก เส้นประภามณฑลเป็นเส้นซุ้มครอบลงมาตลอดด้านข้าง พระพักตร์ป้อมเอิบอิ่ม พระอุระอวบอ้วนล่ำสัน
            "พระคง" เป็นพระเนื้อดินเผา ขนาดเล็กกะทัดรัด กว้างประมาณ 1.7 ซ.ม. สูงประมาณ 2.8 ซ.ม. มีทั้งสีขาว สีเหลืองพิกุล สีเขียว สีแดง และสีดำ พบมากที่วัดคงฤาษี และมีกระจายอยู่ตามวัดต่างๆ ในลำพูนรวมทั้งเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าน่าจะมีการนำพระคงมาบรรจุกรุทีหลัง หลังจากมีการแตกกรุจากวัดพระคงฤาษี และเนื่องด้วยพระคงมีการแตกกรุมาหลายครั้ง จึงมีการแบ่งแยกออกเป็น "กรุเก่าและกรุใหม่"
            "พระคงกรุเก่า" ให้สังเกตเนื้อขององค์พระ จะมีเนื้อละเอียดหนึกนุ่ม แต่มีความแกร่ง 
และปรากฏว่านดอกมะขามเป็นจุดสีแดงเล็กๆ ประปรายตามผิวขององค์พระ 
            "พระคงกรุใหม่" เนื้อขององค์พระจะค่อนข้างยุ่ยและหยาบ โดยเฉพาะว่านดอกมะขามและแร่ที่จมอยู่ในเนื้อ จะหยาบและกระจายอยู่ตามผิวและฝังอยู่ในเนื้อมากมาย

           

            จังหวัดลำพูน หรือที่ในสมัยก่อนเรียกกันว่า "เมืองหริภุญไชย" เป็นเมืองเก่าแก่ของไทย 
กล่าวตามตำนานพงศาวดารไว้ว่า เมืองหริภุญไชย ถูกสร้างโดยฤาษี 4 องค์ มี ฤาษีวาสุเทพ หรือพระสุเทวะฤาษี เป็นผู้นำในการสร้าง แล้วเสร็จในราวปี พ.ศ.1200 
            ต่อมาในปี พ.ศ.1205 พระนางจามเทวี พระธิดาของพระเจ้าจักรวรรดิราช กษัตริย์มอญที่ครองเมืองละโว้หรือลพบุรีในสมัยนั้น ได้รับการอัญเชิญมาเป็นกษัตริย์เมืองหริภุญไชย พระองค์ได้ทรงนำพระพุทธศาสนา พระไตรปิฎก รวมทั้งวิทยาการต่างๆ มายังเมืองหริภุญไชย ทรงสร้างวัดและถาวรวัตถุทางพุทธศาสนาเป็นอันมาก ที่สำคัญที่สุดคือ ปี พ.ศ.1223 พระนางจามเทวีทรงสร้างจตุรพุทธพุทธปราการ
            โดยสร้างวัดไว้ทั้ง 4 ทิศ ชาวเมืองเรียกกันว่า "วัดสี่มุมเมือง" ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการคุ้มครองเมืองไว้ทั้ง 4 ทิศ คือ
1.วัดพระคงฤาษี อยู่ทางด้านเหนือ
2.วัดประตูลี้ อยู่ด้านทิศใต้
3.วัดดอนแก้ว อยู่ด้านทิศตะวันออก
4.วัดมหาวัน อยู่ด้านทิศตะวันตก
            นอกจากนี้ ที่ พระเจดีย์ฤาษี วัดพระคงฤาษี ยังปรากฏรูปพระฤาษีทั้งสี่ประทับยืนในซุ้มคูหา พร้อมมีคำจารึกใต้ฐานว่า 

สุเทวะฤาษี ผู้รักษาเมืองฝ่ายทิศเหนือ
สุกกทันตฤาษี ผู้รักษาเมืองฝ่ายทิศใต้
สุพรหมฤาษี ผู้รักษาเมืองฝ่ายทิศตะวันออก
สุมมนารทะฤาษี ผู้รักษาเมืองฝ่ายทิศตะวันตก
วัดสี่มุมเมืองนี้ นับเป็นพุทธาวาสสำคัญของจังหวัดลำพูน 
และเป็นแหล่งกำเนิดพระกรุสกุลลำพูนอันมีชื่อเสียงที่สุดในจังหวัดด้วย อาทิ พระรอด หนึ่งในพระชุดเบญจภาคี พระคง พระฤา พระเปิม และพระบาง ฯลฯ 
ซึ่งจะมีรูปแบบของศิลปะทวารวดีและศิลปะศรีวิชัย พระกรุเหล่านี้จึงน่าจะมีอายุอยู่ในราว 1,300 ปี

 

Visitors: 341,693