เหรียญหลวงพ่อเภา วัดถ้ำตะโก รุ่น 2 ปี 2470 เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อเภา วัดถ้ำตะโก รุ่น 2 ปี 2470 เนื้อทองแดง

            เหรียญหลวงพ่อเภา วัดถ้ำตะโก ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี รุ่น 2 จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2470 เพื่อแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธามาร่วมงานการกุศลปฏิสังขรณ์และผูกสีมา วัดเขาวงกฎ จ.ลพบุรี

            ลักษณะเป็นเหรียญปั้มรูปทรงเสมา ข้างเลื่อย หูในต้ว ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเภาครึ่งองค์ ด้านบนเป็นอักขระยันต์ ด้านล่างมีอักษรไทยว่า "พระพุทธสาราจารย์เภา วัดถ้ำตะโก" ด้านหลังเหรียญตรงกลางเป็นยันต์สี่เหลี่ยม รอบยันต์มีอักษรไทยว่า "ที่รฤกในการกุศลปฏิสังขรณ์แลผูกสีมาวัดเขาวงกฎลพบุรี" ล่างสุดเป็นปีที่สร้าง "๒๔๗๐"

 

            หลวงพ่อเภา พุทธสโร เป็นชาว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เกิดในปี พ.ศ. 2415 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนเด็กได้ศึกษาร่ำเรียนอักขรสมัยกับพระอธิการคง วัดอินทาราม อ.พยุหะคีรี ซึ่งเป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้น อายุ 11 ขวบก็บรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาพระธรรมวินัยและพระปริยัติธรรม สามเณรเภามีความเฉลียวฉลาดสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ท่านมีความสนใจด้านวิปัสสนากรรมฐานเป็นพิเศษ 

            พออายุครบ 21 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่ วัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี ได้รับฉายา "พุทธสโร" จำพรรษาที่วัดอยู่ 1 พรรษา ก็เดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมตามสำนักต่างๆ รวมทั้งสำนักพระศรีวิสุทธิวงศ์ (เหลียน) วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ 

            ด้วยความที่ท่านสนใจเรื่องวิปัสสนากรรมฐานและธุดงควัตรมาตั้งแต่เด็ก จึงเริ่มต้นด้วยการออกธุดงควัตรมาตั้งแต่เด็ก จึงเริ่มต้นด้วยการออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ได้พบและศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาการต่างๆ กับพระเกจิผู้มากด้วยวิทยาอาคมหลายรูป จนเห็นทางสำเร็จมรรคผลแห่งการจำเริญวิปัสสนาคือต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ก่อนกำหนดลมหายใจเข้าออก และรู้สภาวะธรรมอยู่ทุกขณะจิต หรือที่เรียกว่า "อานาปานสติ" นั่นเอง

            หลวงพ่อเภากลับไปจำพรรษาที่วัดอินทารามอยู่ระยะหนึ่งจึงตัดสินใจออกเดินทาง เพื่อหาสถานที่ที่เหมาะสม จนมาถึง จ.ลพบุรี จึงพำนักที่วัดท่าโขลง ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง กิตติศัพท์ของท่านเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนต่างพากันมากราบนมัสการด้วยเลื่อมใสศรัทธา เวลาว่างๆ หลวงพ่อเภามักจะเดินไปเขาสมอคอนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดนักเพื่อปลีกวิเวก เห็นสถานที่อันเต็มไปด้วยต้นตะโก มีความเหมาะสมกับการเจริญวิปัสสนา จึงตกลงใจจะสร้างถ้ำตะโกให้เป็นสถานที่ปฏิบัติกิจทางวิปัสสนากรรมฐาน ชาวบ้านจึงมาช่วยกันสร้างเสนาสนะทีละเล็กทีละน้อยจนกลายเป็น "วัดถ้ำตะโก" ที่เจริญรุ่งเรืองในที่สุด นอกจากนี้หลวงพ่อเภาได้พัฒนาวัดปฐมพานิช อ.บ้านหมี่ และสร้างวัดเขาวงกฎ อ.บ้านหมี่ 

และท่านก็มรณภาพ ณ วัดเขาวงกฎ ในปี พ.ศ. 2474 สิริอายุ 60 ปี 40 พรรษา

 

Visitors: 342,446