ตะกรุดโสฬสมหามงคล อาจารย์แปลก ร้อยบาง ฆราวาส สายวัดสะพานสูง

ตะกรุดโสฬสมหามงคล อาจารย์แปลก ร้อยบาง ฆราวาสสายวัดสะพานสูง

            ตะกรุดโสฬสมหามงคล อาจารย์แปลก ร้อยบาง ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากสายสำนักวัดสะพานสูง โดยมีอาจารย์ คือ หลวงปู่กลิ่น เป็นผู้ถ่ายทอดให้ความรู้จนแก่กล้าวิชา อักขระเลขยันต์ที่ลงไว้ในตะกรุดเป็นยันต์โสฬสมหามงคล ดังเช่น ตะกรุดหลวงปู่เอี่ยม และ หลวงปู่กลิ่นทุกประการ

            ลักษณะที่แตกต่างในการสร้างตะกรุดของท่านอาจารย์แปลก คือ ท่านจะทุบโลหะแล้วรีดค่อนข้างหนากว่าตะกรุดของหลวงปู่เอี่ยม และหลวงปู่กลิ่น มีขนาดหนา บาง หนึ่งเท่าตัว หรือสองเท่าตัวเลยทีเดียว และลักษณะม้วนตะกรุดจะม้วนให้มีรูร้อยตะกรุดกว้างใหญ่กว่า มองด้วยตาเห็นได้ชัดเจน ส่วนการลงรักถักเชือก ที่พบเห็นส่วนใหญ่จะถักขึ้นทางขวามือเช่นเดียวกันกับหลวงปู่เอี่ยมทุกประการ มีทั้งที่พอกผงและไม่พอกผง เชือกที่ใช้ถักมีทั้งด้ายสายสิญจน์ และเชือกปอแบบเส้นใหญ่ 

            ตะกรุดของท่านอาจารย์แปลก เป็นเครื่องรางที่นำมาใช้ติดตัวแทนอาจารย์ท่านอื่นในสำนักวัดสะพานสูงได้เลย มีเอกลักษณ์ที่แน่นอน ดูง่าย พุทธคุณครบทุกด้าน ยอดเยี่ยมมาก เรียกได้ว่า ครอบจักรวาล

 

            อาจารย์แปลก ร้อยบาง” เดิมทีท่านบวชที่ไหนไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ต่อมาท่านได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดท่าเกวียน ต.คลองข่อย อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยมาอยู่วัดนี้เป็นเพียงพระลูกวัดธรรมดา ท่านเป็นพระที่มีวิชาพอสมควร ถือได้ว่าเป็นผู้แก่กล้าอาคมท่านหนึ่ง 

            เมื่อสมภารวัดมรณภาพลง ในขณะนั้นเห็นจะมีแต่อาจารย์แปลกองค์เดียวเท่านั้นที่มีอาวุโส วัยวุฒิ คุณวุฒิ วิชาอาคมก็แก่กล้า สามารถที่จะปกครองวัดได้อย่างแน่นอน เสียแต่ว่าท่านมิใช่ผู้ที่มีแหล่งกำเนิด ณ ที่นั้น จึงได้รับการต่อต้านจากผู้มี่อิทธิพลในพื้นที่นั้นไม่ให้ขึ้นปกครองวัด ด้วยเหตุดังกล่าวท่านจึงได้ย้ายไปจำวัดอยู่ที่ย่านคลองสอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน โดยในสมัยนั้นมีสภาพทุรกันดาร เป็นวัดเล็กๆ มีพระจำพรรษาน้อยองค์

            เหตุที่ท่านอาจารย์แปลกต้องสึกจากสงฆ์ เกิดจากสมภารในสมัยนั้นนำสิ่งของล้ำค่าของวัดไปขายนำเงินมาใช้ส่วนตัว อาจารย์แปลกท่านเห็นเป็นสิ่งที่ไม่ควรอย่างยิ่ง จึงลุกขึ้นคัดค้าน เพราะท่านถือว่าของในวัดทุกชิ้นเป็นสมบัติของสงฆ์ มิใช่ขององค์ใดองค์หนึ่ง จนสร้างความไม่พอใจให้แก่สมภาร ถึงกับออกปากไล่ ถ้าอยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ออกไป

            เมื่อท่านได้ยินคำหยามเช่นนั้น ท่านก็คิดว่า ถ้าอยู่ต่อไปก็คงจะทำอะไรไม่ได้ ท่านจึงตัดสินใจสึกออกมาสู้ทางโลก ผลปรากฏว่าสมภารวัดกระทำความผิดจริง จำต้องสึกออกไปรับโทษตามกฎเมือง

            ท่านอาจารย์แปลกเองก็มิได้กลับมาบวชอีก คงใช้ชีวิตอย่างสันโดษอยู่แต่ในเรือประทุนลำน้อย ลอยเรือไปตามแม่น้ำลำคลอง ไปอย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง ค่ำไหนนอนนั่น ส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณหน้าวัด ที่เรือท่านลอยผ่าน เรือของอาจารย์แปลกจะไม่มีพาย มีแต่ไม้ไผ่สำหรับไว้ใช้ปักเป็นหลักผูกเรือเท่านั้น ทำให้มีการเรียกชื่ออาจารย์อีกอย่างหนึ่งว่า "อ.แปลก เรือลอย"

            เหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ช่วงนั้นเป็นช่วงเข้าพรรษา อยู่ดีๆ เรืออาจารย์เเปลกก็มาจอดหน้าวัดสะพานสูง ทันทีที่อาจารย์เเปลกถึงวัด ก็เดินตรงเข้ามาที่กุฏิหลวงปู่กลิ่นทันที เเล้วตรงเข้ามากราบหลวงปู่กลิ่นอย่างนอบน้อม แล้วเอ่ยถามหลวงปู่กลิ่นว่า “อาจารย์ลากเรือผมมาที่วัดทำไมครับ” หลวงปู่กลิ่นท่านยิ้ม เเล้วตอบว่า “น้ำปีนี้จะมีมาก อยากให้มาอยู่ที่วัดเสียด้วยกัน”

            เเละเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ในปีนั้นเอง เกิดมีน้ำมากจริงๆ เหตุการณ์ครั้งนี้เเสดงให้เห็นว่าหลวงปู่กลิ่นท่านรับรู้ด้วยญาณก่อนเเล้ว อาจารย์แปลก อยู่ที่วัดสะพานสูง ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า “หลวงปู่กลิ่น กับ อ.แปลก สามารถสนทนากันได้อย่างผู้รู้ ผู้ถึง ไม่ต้องกล่าวสาธยายให้มากความ พูดกันง่ายๆ คือ รู้เขารู้เรา รู้ระดับ รู้ชั้น รู้วรรณะ วางตัวได้อย่างเหมาะเจาะ เหมาะสม ไม่ก้าวล่วง ไม่เกินเลย มีแต่ความเคารพศรัทธาให้กันและกัน"

            อาจารย์แปลก ท่านจะให้ความเคารพหลวงปู่กลิ่นเป็นอาจารย์ ทั้งนี้ท่านจะเรียกหลวงปู่กลิ่นว่า ท่านอาจารย์ทุกคำ จึงอาจพูดได้ว่า อาจารย์แปลกเป็นศิษย์ฆราวาส ได้ร่ำเรียนวิชาการทำตะกรุดโสฬสมหามงคลมาจากหลวงปู่กลิ่นอย่างชนิดเต็มเปี่ยม ในฐานะศิษย์สายตรง คนเดียวเท่านั้นที่เป็นฆราวาส และต้องถือเป็นฆราวาสจอมขมังเวทแห่งวัดสะพานสูงขนานแท้ นักเลงนักเล่นตะกรุดในยุคนั้นต่างแห่แหนเดินทางมาหาอาจารย์แปลก ร้อยบาง เพื่อให้ช่วยจารตะกรุดโสฬสมหามงคล เพื่อไว้ป้องกันตัวและเพื่อความเป็นสิริมงคล

            ชีวิตในบั้นปลายของอาจารย์เเปลก ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่ปากคลองบางซื่อ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามวัดแก้วฟ้า โดยการชักชวนจาก จ่ายูร ลูกศิษย์ที่เป็นทหารเรือ ชวนให้อาจารย์แปลกย้ายมาพักเป็นลักษณะกึ่งถาวร เพื่อทำพิธีในงานไหว้ครู และลงกระหม่อมเพื่อเป็นสิริมงคล ต่อมามีลูกศิษย์มอบที่ดินให้ท่านใช้เป็นที่ปลูกบ้าน ย้ายจากที่เดิมมาอยู่ที่บริเวณใกล้วัดประดู่ธรรมาธิปัตย์ และได้สิ้นบุญ ณ ที่แห่งนั้น โดยท่านเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.2509 อายุประมาณ 80 ปีเศษ

 

Visitors: 341,850