ตะกรุดมหาอุตม์หยุดมัจจุราช หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จ.นครปฐม

ตะกรุดมหาอุตม์หยุดมัจจุราช หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก .นครปฐม

            ตะกรุดมหาอุตม์หยุดมัจจุราช หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จ.นครปฐม วิธีการสร้างตะกรุดไม้ครู ด้านในเป็นไม้ไผ่ (ไม้รวก) แล้วบรรจุใบลานลงพระยันต์อยู่ข้างใน หลวงพ่อทาจะเขียนพระยันต์ลงใบลานด้วยตัว ท่านเองยันต์ส่วนใหญ่ที่เขียนจะเน้นไปทางมหาอุตถ์โดยตรง แล้วจากนั้นหัวท้ายอุดด้วยรังหมาร่า

ยันต์ที่ลงในใบลาน

เเถว 1 : พุทธังปิด พระเจ้าเเผลงฤทธิ์ ปิดตัป พระธัมมัง สังฆังปิด พระเจ้าเเผลงฤทธิ์ ปิดตัป พระสังฆัง พุทธังปิดปิด ถัจปิด โปปิด โสงปะตู ปิดตัป พระพุทธัง ธัมมัง

เเถว 2 : ปิดปิด ถัจปิด โปปิด โสงปะตูปิดตัป พระธัมมัง สังฆัง ปิดปิด ถัจปิด โปปิด โสงปะตู ปิดตัป พระสังฆัง พุทธังปิดปิด ถัจปิด โปปิด โสงปะตู ปิดตัป พระอะระหัง ธัมมัง ปิดปิดตัป พระอะระหัง สังฆังปิด

เเถว 3 : ปิดตัป พระอะระหัง พุทธัง ปุกะรู ธัมมัง จะกะรู สังฆัง จะกะรู พุทธังอุดรู ธัมมังอุดรู สังฆังอุดรู ปิตตุ ปิตตัง ทะสุทะตะ อุดธัง อัดโธ โธอุด ธังอัด โธอุด ธังอัด

เป็นคาถา ที่เน้นทางมหาอุดคงกระพันเป็นหลัก

 

            หลวงพ่อทา วัดเนียงแตก ท่านเป็นชาวโพธาราม จังหวัดราชบุรี บางกระแสว่า โยมบิดาของท่านมีเชื้อสายมาจากทางเวียงจันทน์ จากการนับอายุจากปีที่ท่านมรณภาพก็พอสันนิษฐานได้ว่าท่านเกิดปี พ.ศ.2366 เมื่อท่านมีอายุได้ 6 ขวบ โยมบิดา มารดาได้นำท่านไปฝากเรียนหนังสือที่วัดโพธาราม จนอ่านออกเขียนได้ และพอท่านอายุได้ 15 ปี พ.ศ.2381 ท่านก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร อยู่ที่วัดโพธาราม จนกระทั่งท่านมีอายุครบบวช ปีพ.ศ.2386 ท่านจึงได้อุปสมบทที่วัดบ้านฆ้อง (วัดฆ้อง) อ.โพธาราม ซึ่งในสมัยนั้นเป็นสำนักปฏิบัติธรรมและสอนวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ท่านก็ได้อยู่จำพรรษาและศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและพุทธาคมต่างๆ จากพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์มอญรูปหนึ่ง ซึ่งมีวิทยาคมกล้าแข็งมาก

            หลวงพ่อทาท่านเป็นผู้ที่ขยันใฝ่ศึกษาหาความรู้และปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงเป็นที่รักใคร่ของพระอาจารย์ทั้งสอง และถ่ายทอดวิชาให้ทั้งหมด ท่านอยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดฆ้องอยู่หลายปี ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานจนเชี่ยวชาญแล้ว ท่านจึงได้กราบขออนุญาตพระอุปัชฌาย์ เพื่อออกธุดงค์ไปยังป่าเขาลำเนาไพรเพื่อแสวงหาวิเวกและปฏิบัติกรรมฐานต่อไป ท่านออกธุดงค์ไปกราบพระพุทธชินราชที่พิษณุโลกและย้อนกลับมากราบรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี อีกทั้งธุดงค์เข้าไปยังนครวัด นครธม ย้อนกลับมาเข้าประเทศพม่าถึงชเวดากอง ท่านธุดงค์ตามป่าเขาดงดิบอยู่หลายปี ท่านพบพระเกจิอาจารย์ในป่าที่มีจิตกล้าแข็งท่านก็ได้ศึกษาพุทธาคมด้วย

            จนถึงประมาณปี พ.ศ.2417 ท่านได้ธุดงค์มาถึงตำบลพะเนียงแตก (ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นตำบลมาบแค) ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ 51 ปี ท่านได้พบสถานที่เป็นป่ารกชัฏนอกเมือง ท่านเห็นว่าเป็นที่วิเวก เหมาะแก่การเจริญภาวนาธรรม ท่านจึงได้ ปักกลดพักแรมและได้ทราบต่อมาว่า สถานที่แห่งนี้เคยเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อน แต่กลับมาเป็นวัดร้างรกเรื้อ ชาวบ้านได้มาพบ ปักกลดพักจำวัดอยู่ที่นี่ จึงพากันขอนิมนต์หลวงพ่อทาจำพรรษาอยู่ที่วัดร้างแห่งนี้ ท่านก็อยู่จำพรรษาและได้พัฒนาวัดขึ้นมาใหม่ ในปี พ.ศ.2430 พร้อมทั้งเสนาสนะต่างๆ และพระอุโบสถ

            นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างวัดอื่นๆ ในแถบนั้นอีกพร้อมๆ กันคือ วัดบางหลวง วัดดอนเตาอิฐ และวัดสองห้อง เป็นต้น หลวงพ่อทา ท่านเป็นพระสงฆ์ที่ชาวบ้านรักและเคารพนับถือมาก ท่านอบรมสั่งสอนชาวบ้านจนมีชื่อเสียงโด่งดังมาก มีพระ เณร มาบวชอยู่ที่วัดพะเนียงแตกมากมาย ท่านดำริจะสร้างอะไรก็มีชาวบ้านและศิษยานุศิษย์พร้อมใจกันร่วมสร้างให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี หลวงพ่อทาท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมากมีลูกศิษย์ไปทั่วทั้งในจังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี ชัยนาท เพชรบุรี ราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียงอีกมาก

            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงทราบถึงเกียรติคุณดังกล่าว จึงมีรับสั่งโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าอยู่เสมอๆ ดังจะเห็นได้ว่า พระราชพิธีหลวงต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้นิมนต์หลวงพ่อทาวัดพะเนียงแตกเสมอ เช่น พิธีหลวงการพระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ท่านก็ได้รับนิมนต์ด้วย และรับถวายพัด เนื่องในพิธีหลวงการพระศพดังกล่าว ซึ่งปรากฏรูปถ่ายของหลวงพ่อทาในปี พ.ศ.2452 พัดที่อยู่ทางด้านขวาของท่านเป็นพัดยศพุดตานปักลายใบเทศรักร้อย และทางด้านซ้ายของท่านเป็นพัดรองการพระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรม พระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

            ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระเถระ 4 รูป เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์และเฉลิมพระเกียรติองค์พระปฐมเจดีย์ ประจำทิศทั้ง 4 คือ

1.พระครูอุตรการบดี ประจำทิศเหนือ พระเถระคือหลวง พ่อทาได้รับการแต่งตั้งเป็นรูปแรกของตำแหน่งนี้

2.พระครูทักษิณานุกิจ ประจำทิศใต้ พระเถระคือหลวงพ่อเงิน วัดสรรเพชร

3.พระครูปริมานุรักษ์ ประจำทิศตะวันออก พระเถระคือ หลวงพ่อคต วัดใหม่

4.พระครูปัจฉิมทิศบริหาร ประจำทิศตะวันตก พระเถระคือ หลวงพ่อนาค วัดห้วยจระเข้

            หลวงพ่อทาท่านเป็นที่รักเคารพของประชาชนมาก และเป็นที่เกรงขามของบรรดานักเลงหัวไม้ทั้งหลาย ดังจะเห็นได้ว่างานวัดพะเนียงแตกในสมัยหลวงพ่อทานั้น ท่านไม่เคยขอให้กำนันผู้ใหญ่บ้านหรือทางตำรวจมารักษาความสงบเลย และในสมัยนั้นในงานวัดทุกวัดก็จะเป็นการรวมพวกนักเลงหัวไม้ต่างถิ่นที่เข้ามาเที่ยวในงานวัดทุกวัด และมักจะมีเรื่องตีรันฟันแทงกันอยู่เนืองนิตย์ แต่ที่วัดพะเนียงแตกกลับไม่มีใครกล้าจะมีเรื่องในเขตวัดเลย หลวงพ่อแช่มวัดตาก้องเล่าให้ฟังว่า พวกนักเลงตำบลตาก้องกับตำบลพะเนียงแตกต่างก็ไม่ถูกกันเจอกันที่ไหนก็มักจะต้องมีเรื่องกันทุกที แต่ที่ในงานวัดพะเนียงแตกกลับไม่กล้าตีกัน เนื่องจากหลวงพ่อทาท่านจะถือไม้พลองตรวจตราทั่วงาน เป็นที่ยำเกรงแก่พวกหัวไม้ทั้งหลาย ขนาดคนเมาเอะอะ พอเห็นหลวงพ่อเดินมาก็แทบจะหายเมาเลยทีเดียว ทุกคนต่างเคารพยำเกรงหลวงพ่อทามาก จนมักเรียกท่านว่า 'หลวงพ่อเสือ' 

            การทดสอบวิทยาคม และพลังจิตจากพระอาจารย์ทั่วประเทศในปี พ.ศ.2452 หลวงพ่อทา เป็น 1 ใน 10 คณาจารย์ผู้มีพลังจิตสูงในปี พ.ศ.2452 ที่จังหวัดนครปฐมได้มีการชุมนุมพระอาจารย์จากสำนักต่างๆ ทั่วประเทศไทย มีการทดสอบวิทยาคม และพลังจิตจากพระอาจารย์ทั่วประเทศที่ได้รับนิมนต์มาร่วมในพิธี 100 กว่าองค์ ซึ่งแต่ละจังหวัดได้จัดให้พระอาจารย์ที่โด่งดัง และเก่งเรื่องสมาธิจิตในจังหวัดตนเองนั้นเดินทางไปร่วมในงานพิธี โดยมีการทดสอบพระอาจารย์ต่างๆ ครั้งละ 10 องค์ มีสมเด็จพระสังฆราช (เข) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ที่บริเวณ วัดพระปฐมเจดีย์ ในการทดสอบครั้งนั้นมีกติกาว่าให้เอาท่อนไม้มา 1 ท่อน วางบนม้า 2 ตัว แล้วเอากบไสไม้วางไว้บนท่อนไม้ แล้วประธานฝ่ายสงฆ์จึงบอกกติกาว่า อาจารย์องค์ใดสามารถทำกบไสไม้ให้วิ่งไสไม้ไปกลับได้โดยกบไม่หล่นทำการทดสอบ กันถึง 3 วัน 3 คืน พระอาจารย์ส่วนมากสามารถใช้จิตบังคับให้กบวิ่งไปได้ แต่กลับไม่ได้ และในพระคณาจารย์ที่มีจิตญาณวิเศษสูงส่งที่ทำให้กบไสไม้ไปกลับได้ มีด้วยกัน 10 รูป คือ

1. หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ

2. หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว

3. หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า

4. หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง

5. หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน

6. หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก

7. หลวงพ่อทอง วัดเขากบทวาศรี นครสวรรค์

8. หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย

9. หลวงปู่ยิ้ม หนองบัว

10. หลวงพ่อจอน วัดดอนรวบ ชุมพร

หลวงพ่อทาท่านมรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อปี พ.ศ.2462 สิริอายุได้ 96 ปี 76 พรรษา

 

Visitors: 341,749