เหรียญพระวิษณุกรรม โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ปี 2517 เนื้อทองแดงรมดำ

เหรียญพระวิษณุกรรม โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ปี 2517 เนื้อทองแดงรมดำ

            เหรียญพระวิษณุกรรม โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2517 โดยสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวายจัดสร้าง จำนวนประมาณ 700 เหรียญ ได้นำไปให้หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่ จ.ระยอง อธิษฐานจิตปลุกเสก และแบ่งไว้ที่วัดประมาณ 200 เหรียญ (จะไม่ตอกโค๊ต) อีกประมาณ 500 เหรียญ ได้นำมาให้หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี จ.กรุงเทพฯ อธิฐานจิตปลุกเสกอีกครั้ง จึงตอกโค๊ตดอกจัน เสร็จแล้วนำมาออกบูชาที่อุเทนฯ 

            ลักษณะ ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปจำลองพระวิษณุกรรมประทับยืนมือขวาถือไม้เมตรหรือไม้วา มือซ้ายถือลูกดิ่งและไม้ฉากอันเป็นเครื่องมือของช่างก่อสร้างมาแต่สมัยโบราณ ข้างล่างมีอักษรจารึก “อุเทน” ด้านหลังเหรียญเป็น "ยันต์ห้า" ซึ่งเป็นยันต์ครูของหลวงปู่ทิม 

 

            พระวิศวกรรม หรือเรียกได้อีกหลายชื่อว่า พระวิษณุกรรม พระวิสสุกรรม พระเวสสุกรรม หรือพระเพชรฉลูกรรม เป็นเทวดานายช่างใหญ่ของพระอินทร์ ตามตำนานกล่าวว่า เป็นผู้สร้างเครื่องมือ สิ่งของต่างๆ ให้เกิดขึ้น และเป็นแบบอย่างให้แก่มนุษย์สืบมา

            ช่างไทยแขนงต่างๆ ให้ความเคารพบูชาพระวิศวกรรมในฐานะครูช่าง หรือเทพแห่งวิศวกรรมของไทย โดยเรามักพบเห็นรูปจำลององค์ท่านได้บ่อยๆ ตามสถานศึกษาทางช่างทุกสถาบัน โดยนิยมสร้างอยู่สองท่า คือ ท่าประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือผึ่ง (จอบสำหรับขุดไม้) และอีกข้างถือดิ่ง และท่าประทับยืนมือขวาถือไม้เมตรหรือไม้วา มือซ้ายถือลูกดิ่งและไม้ฉาก

            ส่วนที่มาขององค์พระวิษณุกรรมทั้ง 2 ท่านี้ พอขยายความได้ว่า หากสถาบันใดเปิดสอนวิชาชีพช่างก่อสร้าง มักอยู่ในท่ายืนมือถือลูกดิ่งและไม้เมตรหรือไม้วาอันเป็นเครื่องมือของช่างก่อสร้างมาแต่สมัยโบราณ ซึ่งช่างทั้งหลายทราบดีว่าเป็นเครื่องมือสำหรับวัดระยะ วัดความเที่ยงตรง แต่สิ่งที่นอกเหนือไปจากนั้นยังแฝงไปด้วยปรัชญาในการดำเนินชีวิต คือความแม่นยำ เที่ยงตรง ไม่เอนเอียงในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นที่มาของช่างที่ดี คือความมีคุณธรรมประจำใจ หากสถาบันใดเปิดสอนวิชาชีพสาขาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ช่างก่อสร้างอยู่ด้วย มักจะใช้ท่านั่ง เข้าใจว่าผู้สร้างคงจะชี้ให้เห็นเด่นชัดถึงสถาบันผู้ผลิตช่างก่อสร้าง อันเป็นช่างเก่าแก่มีมาแต่ก่อนแล้ว

            คนไทยเรียกพระวิศวกรรมว่า 'พระวิษณุกรรม' และในที่สุดได้กร่อนลงเหลือเพียง 'พระวิษณุ' ซึ่งเป็นชื่อของเทพที่คนไทยรู้จักกันในฐานะ 1 ใน 3 เทพสำคัญของศาสนาฮินดู อันได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ทำให้หลายคนเข้าใจว่าพระวิษณุเป็นเทพแห่งวิศวกรรม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

            ในพระไตรปิฎก (อรรถกถา) กล่าวว่า ท่านเป็นผู้สร้างอาศรมให้แก่พระโพธิสัตว์หลายพระองค์ (ก่อนที่จะอุบัติเป็นพระพุทธเจ้า) เช่น ในพระเวสสันดรชาดก เป็นผู้สร้างบันไดเงิน บันไดทอง บันไดแก้ว ทอดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมายังโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัสสนคร ซึ่งเป็นเส้นทางที่พระพุทธเจ้าใช้เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (หลังจากเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ในช่วงเข้าพรรษา)

            นอกจากนี้แล้วชื่อเต็มๆ ของกรุงเทพฯ ยังมีชื่อของ "พระวิษณุกรรม" รวมอยู่ด้วย กล่าวคือ "กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรฯ มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" หมายถึง กรุงเทพมหานคร เมืองแห่งเทวดานั้น พระวิษณุกรรมเป็นผู้สร้าง ตามพระบัญชาของพระอินทร์

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

 

Visitors: 341,886