เหรียญอัศวัตถะ (จักรเพชร รุ่น 2) วัดดอน ยานนาวา ปี 2533 เนื้อทองคำ

เหรียญอัศวัตถะ (จักรเพชรรุ่น 2) วัดดอน ยานนาวา ปี 2533 เนื้อทองคำ

            เหรียญอัศวัตถะ (จักรเพชร รุ่น 2) วัดดอน ยานนาวา จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2533 ลักษณะด้านหน้าเหรียญเป็นรูปท่านท้าวมหาพรหมธาดาเทวตา ข้างล่างจารึก “ท่านท้าวมหาพรหมธาดา” ข้างเหรียญมียันต์เป็นอักษรพรหมมีประทับหัวอักขระด้วยยันต์ตานกเค้า ด้านหลังเหรียญเป็นเทพนารัต ผู้โปรดปรานดนตรีจนได้ตำแหน่งเป็นเทพที่บรรเลงดนตรีให้มหาเทพฟัง ข้างล่างจารึก “เหรียญอัศวัตถะ” ข้างเหรียญมียันต์เป็นอักษรพรหม มีเสือและงูขาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ขลังประจำสำนักกำกับอยู่ด้วย เพื่อเพิ่มความเป็นมหาอำนาจ แคล้วคลาด และมีชัยชนะเหนือศัตรูกับอุปสรรคทั้งปวง

 

            การจัดสร้างเหรียญอัศวัตถะ (จักรเพชร รุ่น 2) เนื่องจาก ในปีพ.ศ.2508 ท่านอาจารย์สามเณรวิรัช ลุปต์ซ่า ได้สร้างอิทธิวัตถุ คือ เหรียญ "จักรเพชร" เพื่อเผยแพร่ และเป็นตัวแทนขององค์ธรรม (องค์สมเด็จพระบรมครูท่านท้าวมหาพรหมธาดา) ซึ่งองค์สมเด็จพระบรมครูท่านท้าวมหาพรหมธาดา ได้ทรงเมตตาประทานเหรียญ "จักรเพชร" ไว้ว่า "ผู้ใดนำเหรียญ "จักรเพชร" ไปสักการะบูชา ผู้นั้นย่อมมีพระพรอันบริสุทธิ์และสูงสุดของบิดามารดาติดตัวอยู่เสมอไป ซึ่งบุคคลทั้งหลายที่นำเหรียญ "จักรเพชร" ไปสักการระบูชาก็ได้ประสบกับความสุข ความเจริญ มีอำนาจบารมีนานับประการสุดที่จะบรรยายได้

            ต่อมาในปี พ.ศ.2509 ก่อนที่ท่านอาจารย์วิรัช ลุปต์ซ่า จะพ้นจากหน้าที่ทางโลก และละโลกนี้ไป องค์สมเด็จพระบรมครูท่านท้าวมหาพรหมธาดา ทรงได้มอบหมายหน้าที่ การเผยแพร่ธรรมะให้แก่ท่านอาจารย์นารโษตตมะ (อาจารย์พ่อ) เพื่อให้เป็นผู้สืบทอดทำหน้าที่ ทนุ บำรุง รักษา องค์ธรรมต่อไป ท่านอาจารย์พ่อจึงได้รวบรวมกำลังศรัทธาของบรรดาศิษย์ทุกท่านช่วยกันสร้างสถานค้นคว้าสัจธรรม โดยให้ชื่อว่า สถานค้นคว้าสัจธรรม "ปุรุโษตตมะ" ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 4/1 หมู่ 12 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 

            จวบปี พ.ศ.2533 มีผู้เลื่อมใสจำนวนมาก มาฝากตัวเป็นศิษย์ขององค์ธรรม (องค์สมเด็จพระบรมครูท่านท้าวมหาพรหมธาดา) ศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ต่างมาขอรับเหรียญ "จักรเพชร" ไปสักการะบูชาจนไม่พอกับความต้องการ บรรดาศิษยานุศิษย์ทุกคนจึงขอร้องให้ท่านอาจารย์นารโษตตมะ (อาจารย์พ่อ) จัดสร้างอิทธิวัตถุขึ้น เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ธรรมและประสิทธิ์ประสาทให้ศิษยานุศิษย์และบุคคลทั่วไปนำไปสักการะบูชา ท่านจึงได้จัดสร้างเหรียญนี้ขึ้นมา โดยมีชื่อว่า เหรียญ "อัศวัตถะ"

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

 

Visitors: 341,831