พระสมเด็จปิลันทน์ วัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ปรกโพธิ์ลึกฐานสิงห์

พระสมเด็จปิลันทน์ วัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ปรกโพธิ์ลึกฐานสิงห์ 

            พระสมเด็จปิลันทน์ วัดระฆังโฆสิตาราม จัดสร้างโดยพระสมเด็จพระพุทธุปบาทปิลันทน์ หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ ทัด เสนีย์วงศ์ ท่านเป็นศิษย์เอกของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี นับตั้งแต่ช่วยสร้างพระสมเด็จวัดระฆังโหสิตารามเป็นต้นมา และได้ทรงสร้างพระเครื่องของท่านขึ้นมาในปี พ.ศ. 2411 แต่มิได้ทรงสร้างโดยลำพังพระองค์เดียว หากทรงอาราธนาให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ร่วมสร้างด้วย และขอผงวิเศษ 5 ประการของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มาเป็นอิทธิวัตถุผสมเป็นหลักของมวลสาร พระสมเด็จปิลันทน์จึงมีผู้นิยมขนานพระนามว่า “พระสองสมเด็จฯ” 

            พระสมเด็จปิลันทน์มีหลายพิมพ์ แกะแม่พิมพ์ด้วยช่างหลวง จึงมีความสวยงามเป็นพิเศษ เนื้อผงจะออกไปทางเทาอมดำหรือเขียวอมดำ มีคราบไขขาวเกาะแน่นไม่หลุดง่าย เคยปรากฎว่าพระสมเด็จปิลันทน์ที่ไม่ได้บันจุกรุอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานจะเป็นสีเขียวเข้ม พระสมเด็จปิลันทน์มีทั้งหมดประมาณ 13 พิมพ์ 

            พระสมเด็จปิลันทน์ มีทั้งลงกรุและไม่ลงกรุ พระสมเด็จปิลันทน์ ส่วนหนึ่งสร้างแล้วแจกเลย องค์พระจะสะอาดสอ้าน ไม่ปรากฏคราบขี้กรุ ส่วนพระที่ลงกรุนั้นมีการขุดพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2471

พระจะมีคราบกรุ หรือที่เรียกกันว่า "คราบไข" ในลักษณะเป็นไขสีขาวคล้ายไขวัวเกาะติดเป็นแผ่นบ้างเป็นเม็ดๆ บ้าง คนรุ่นเก่ากล่าวไว้ว่า "ปิลันทน์ ให้ดูไข แร่บางไผ่ ให้ดูเสี้ยน"

            หม่อมเจ้าพระสมเด็จพุฒาจารย์ ทัด เสนีย์วงศ์ เป็นเจ้าวังหลัง และทรงอุปสมบถเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตารามเป็น พระกรรมวาจาจารย์ ประทับอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม และศึกษาพระบาลีปริยัติธรรมกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ โดยตรงมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งได้เปรียญ 7 ประโยค และเป็นศิษย์ที่ทรงสมณศักดิ์สูงที่สุดของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้ทรงสมณศักดิ์ที่ หม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 อันเป็นสมณศักดิ์พระราชทานถวายเฉพาะ แด่พระเถระที่เป็นพระราชวงศ์เท่านั้น และทรงสมณศักดิ์สุดท้ายเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่หม่อมเจ้าพระสมเด็จพุฒาจารย์ แล้วโปรดให้ไปครองวัดพระเชตุพนฯ

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

 

Visitors: 341,853