พระพิมพ์ซุ้มกอ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน จ.สุพรรณบุรี

พระพิมพ์ซุ้มกอ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน .สุพรรณบุรี

            หลวงพ่อโหน่งได้สร้างพระเครื่องเนื้อดินเผาไว้หลายพิมพ์ เนื่องจากสร้างจำนวนมาก ซึ่งมีลูกศิษย์และชาวบ้านมาช่วยกันสร้าง สันนิษฐานว่าเริ่มสร้างประมาณปี พ.ศ.2461 เป็นต้นมา โดยหลวงพ่อโหน่งท่านจะทำพิธีพุทธาภิเษกพระของท่านตอนที่เผาไฟ ซึ่งมีพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นมาร่วมประกอบพิธีมากมาย และ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ก็มาร่วมในพิธีด้วย

            พระเครื่องของหลวงพ่อโหน่งมีมากมายหลายพิมพ์ เช่น พิมพ์ซุ้มกอ, พิมพ์ขุนแผนหน้าค่าย, พิมพ์สมเด็จฯ, พิมพ์ลีลา, พิมพ์งบน้ำอ้อย, พิมพ์ท่ากระดาน, พิมพ์ปรุหนัง, พิมพ์จันทร์ลอย เป็นต้น แต่ที่นิยมและมีสนน ราคาสูงก็คือพิมพ์ซุ้มกอ และพิมพ์ขุนแผนหน้าค่าย ปัจจุบันหายากพอสมควร

            พุทธคุณนั้นเด่นทางแคล้วคลาด อยู่คง และเมตตามหานิยม เรียกว่าดีครบเครื่อง

 

            หลวงพ่อโหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดใหม่อัมพวัน (วัดคลองมะดัน) จ.สุพรรณบุรี

 เกิดเมื่อปี พ.ศ.2409 ต.ต้นตาล อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี พออายุได้ 24 ปี พ.ศ.2433 จึงได้อุปสมบทที่วัดสองพี่น้อง โดยมี พระอธิการจันทร์ วัดทุ่งคอก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการดิษฐ์ วัดทุ่งคอก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการสุด เป็นพระอนุสาวนาจารย์

            เมื่อบวชแล้วหลวงพ่อโหน่งจึงได้เดินทางเข้ามาศึกษาที่กรุงเทพฯ มาอยู่จำพรรษากับพระน้าชาย ซึ่งมีสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณ เปรียญ 9 ประโยค เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย แต่ด้วยหลวงพ่อโหน่งเห็นความเป็นอยู่ที่อุดมสมบูรณ์ต่างๆ ของพระในกรุง และคิดว่าไม่ใช่แนวทางการหลุดพ้น จึงกราบลาท่านเจ้าคุณน้าชายกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้องตามเดิม จากนั้นก็ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งคอก เพื่อศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับพระอธิการจันทร์ พระอุปัชฌาย์ของท่าน

            หลวงพ่อโหน่งศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับพระอธิการจันทร์ได้ 2 พรรษา จึงเดินทางมาศึกษาต่อกับ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อำเภอบางปลาม้า จนกระทั่งมีความรู้แตกฉาน เป็นที่ไว้วางใจแก่หลวงพ่อเนียม และให้ช่วยแนะนำพระรูปอื่นๆ แทนอยู่เสมอ เมื่อตอนที่หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค มาศึกษากับหลวงพ่อเนียม หลวงพ่อเนียมยังบอกกับหลวงพ่อปานว่า “เวลาข้าตายแล้วเอ็งสงสัยอะไรก็ให้ไปถามโหน่งเขานะ โหน่งเขาแทนข้าได้” แสดงให้เห็นว่า หลวงพ่อเนียมไว้วางใจหลวงพ่อโหน่งมาก

            เมื่อหลวงพ่อโหน่งศึกษาจากหลวงพ่อเนียมจนแตกฉานแล้ว ท่านก็ได้กลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้องตามเดิม วันหนึ่งหลวงพ่อโหน่งมีจิตใจวาบหวิวชอบกล จึงได้เดินทางไปหาหลวงพ่อเนียม ยังไม่ทันที่หลวงพ่อโหน่งจะพูดอะไร หลวงพ่อเนียมก็พูดขึ้นก่อนว่า “ฮื้อ ทำไปเองนี่นา ไม่มีอะไรหรอก กลับไปเถอะ” หลวงพ่อโหน่งก็สบายใจขึ้น และก็เดินทางกลับไปที่วัดสองพี่น้องตามเดิม

            ต่อมาหลวงพ่อแสง วัดคลองมะดัน อำเภอสองพี่น้อง ทราบว่าหลวงพ่อโหน่งเป็นผู้ที่จะมาแทนท่านได้ จึงนิมนต์หลวงพ่อโหน่งให้มาจำพรรษาที่วัดคลองมะดัน และเมื่อหลวงพ่อแสงมรณภาพ ชาวบ้านจึงนิมนต์หลวงพ่อโหน่งให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน หลวงพ่อโหน่งเมื่อครั้งมาจำพรรษาอยู่ที่วัดคลองมะดัน ท่านก็ฉันอาหารเจมาโดยตลอด ก่อนออกบิณฑบาตจะนมัสการต้นโพธิ์ทุกเช้า เมื่อบิณฑบาตกลับมาก็จะใส่บาตรถวายสังฆทาน หลวงพ่อโหน่งได้พาโยมแม่ซึ่งชราภาพมากแล้วมาอยู่ที่วัดด้วย และปรนนิบัติจนกระทั่งถึงแก่กรรม

            หลวงพ่อโหน่งเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยอบรมสั่งสอนพระเณรและศิษย์วัดและชาวบ้านให้อยู่ในศีลในธรรม จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านมาก ท่านจะเจริญวิปัสสนากรรมฐานในป่าช้าเป็นประจำ ถือสันโดษไม่สะสมทรัพย์ ไม่รับเงิน และยังสร้างสาธารณูปการสงฆ์ขึ้นอีกมากมาย หลวงพ่อโหน่งจะรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าเสมอ เมื่อครั้งที่หลวงพ่อปานจะมาหาโดยไม่ได้บอกล่วงหน้า ยังสั่งศิษย์ไว้ก่อนว่าให้เตรียมจัดที่ทางไว้ วันนี้จะมีพระผู้ใหญ่มาหา หลวงพ่อโหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดคลองมะดัน จวบจนมรณภาพ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2477 สิริอายุได้ 68 ปี 44 พรรษา

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

 

Visitors: 341,859