เหรียญหลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร รุ่นแซยิด ปี 2474 เนื้อเงิน

เหรียญหลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร รุ่นแซยิด ปี 2474 เนื้อเงิน
เหรียญหลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร กรุงเทพฯ รุ่นแซยิด จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2474 เพื่อแจกแก่ลูกศิษย์ที่มาแสดงมุทิตาจิตอายุครบ 100 ปี
ลักษณะเป็นเหรียญแบบพัดยศพระราชาคณะ เรียกว่า ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ด้านหน้าเหรียญตรงกลางเป็นรูปเหมือน หลวงปู่ภูนั่งขัดสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ ใต้อาสนะจารึกว่า “อายุครบ ๑๐๐ ปี” ด้านหลังเหรียญเป็นยันต์นูนแถวเดียว ด้านบนเป็นอุณาโลม แถวที่สองพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ตรงกลางเป็นตัวอุ ล่างสุดเป็นตัวเฑาะว์ขัดสมาธิ

พระครูธรรมานุกูล หรือ หลวงปู่ภู เกิด ณ หมู่บ้านวังหิน อ.เมือง จ.ตาก เมื่อปี พ.ศ.2373 ตรงกับปีขาล อายุได้ 9 ขวบ บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดท่าคอย ศึกษาอักขระสมัย (ภาษาขอม) และหนังสือไทย กับ พระอาจารย์คำ วัดท่าแค 
พออายุ 21 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดท่าคอย มี พระอาจารย์อ้น เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์คำ วัดท่าแค เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์มา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา "จนฺทสโร"
ในสมัยที่หลวงปู่ภูเดินธุดงค์มากรุงเทพฯ ครั้งแรก ท่านได้มาปักกลดอยู่ ณ บริเวณที่ตั้งวังบางขุนพรหม (ธนาคารแห่งประเทศไทย) บริเวณชายแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสมัยนั้นบริเวณนั้นยังเป็นป่ารกร้างว่างเปล่า ต่อมาได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศฯ แล้วย้ายไปจำพรรษาที่วัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) ตามลำดับ ในปี พ.ศ.2432 ได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดอินทาราม สมัยนั้นชื่อว่า “วัดบางขุนพรหมนอก” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอินทรวิหาร” และได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ.2434 
หลวงปู่ภู นับว่าเป็นศิษย์ใกล้ชิดกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) รูปหนึ่ง เมื่อครั้งที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จัดสร้างพระเครื่องที่วัดบางขุนพรหม ก็ได้มาพักอยู่กับหลวงปู่ภู และได้สร้าง ‘พระศรีอาริยเมตไตรย์ (พระหลวงพ่อโต)’ ไว้ที่วัดอินทร์แห่งนี้ โดยมี หลวงปู่ภู เป็นกำลังสำคัญ แต่สร้างได้เพียงครึ่งองค์ก็มรณภาพลง
พระเครื่องที่หลวงปู่ภูสร้างนั้น เข้าใจว่าสร้างไว้ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2463 เรื่อยมา โดยวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างก็เพื่อหาปัจจัยบูรณปฏิสังขรณ์ หลวงพ่อโต วัดอินทร์ ซึ่งยังไม่สมบูรณ์ จนแล้วเสร็จ เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ 
ท่านมรณภาพเมื่อวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2476 สิริอายุ 103 ปี 83 พรรษา
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

Visitors: 342,717