พระนาคปรกใบมะขามท่านเจ้าคุณสนิท วัดท้ายตลาด ปี 2456 เนื้อทองคำ

พระนาคปรกใบมะขาม ท่านเจ้าคุณสนิท วัดท้ายตลาด ปี 2456 เนื้อทองคำ 

            พระนาคปรกใบมะขาม พระสนิทสมณคุณ (เจ้าคุณสนิท) วัดโมลีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) กรุงเทพฯ จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2456 เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในโอกาสอายุครบ 5 รอบ (60 ปี)  

            ลักษณะเป็นเหรียญปั้มขนาดเล็ก พุทธศิลปะสมัยลพบุรี ด้านหน้าเหรียญเป็นพระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิราบ มีพญานาค 7 เศียร ขดเป็นพุทธบัลลังก์ 3 ชั้น แผ่พังพานเหนือพระเศียรขององค์พระ ด้านหลังเหรียญมีลักษณะเรียบปรากฏร่องรอยการลงเหล็กจารอักขระยันต์ 

            พระนาคปรกใบมะขามเจ้าคุณสนิท ส่วนใหญ่จะมีลักษณะค่อนข้างหนา และมีร่องรอยการแต่งขอบข้างเหรียญ ด้านข้างเป็นเหรียญปั๊มตัดยุคเก่า ส่วนใหญ่มีร่องรอยการแต่งขอบ

            การจัดสร้างเนื่องด้วยท่านได้นำเอาตะกรุดทองคำ 2 ดอก จาก 3 ดอก ที่ท่านคาดเอวมาตั้งแต่เมื่อครั้งอยู่ที่เมืองพระตะบอง แต่ละดอกน้ำหนักถึง 20 บาท ให้ลูกศิษย์นำไปเป็นมวลสารในการจัดสร้าง และผสมด้วยทองแดงเพื่อให้เนื้อแข็งขึ้น พระปรกใบมะขามจึงมีสีออกเป็นสีนาก หรือสีทองเค

            พระปรกใบมะขามท่านเจ้าคุณสนิท วัดท้ายตลาด นับว่าเป็นจักรพรรดิของพระนาคปรกใบมะขาม หรือสุดยอดของพระปรกใบมะขาม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นับเป็นพระเครื่องที่มีความสำคัญและพุทธคุณสูงส่ง ปัจจุบันไม่ค่อยจะได้พบเห็นกันนัก เนื่องด้วยผู้มีไว้สักการะต่างหวงแหนยิ่งนัก

 

            หลวงพ่อเงิน ธัมมปัญโญ หรือ พระสนิทสมณคุณ หรือที่คนส่วนใหญ่มักนิยมเรียกติดปากว่า ท่านเจ้าคุณสนิทฯ อดีตเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม หรือวัดท้ายตลาด เป็นชาวเขมร เกิดที่เมืองพระตะบอง เมื่อปี พ.ศ.2396 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) 

            ศึกษาร่ำเรียนอักขระสมัยในสำนักพระธรรมโกษาวัดนรา เมืองพระตะบอง ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ต่อมาบรรพชาเป็นสามเณร และอุปสมบทเมื่ออายุครบบรรพชา แล้วเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ ที่วัดอรุณราชวราราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 

            ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่พระครูปัญญาคทาวุธ ตำแหน่งเจ้าคณะเมืองพระตะบอง แล้วเลื่อนเป็นพระราชาคณะที่พระปัญญาคทาวุธ และพระสนิทสมณคุณ ผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑล ตามลำดับ 

            จนเมื่อสยามประเทศคืนเมืองพระตะบองและเสียมราฐให้แก่กรุงกัมพูชา ท่านจึงพาศิษยานุศิษย์อพยพเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ ในคราวเดียวกับ หลวงพ่อคง สุวัณโณ พระเกจิผู้เรืองนามอีกรูปหนึ่ง ซึ่งมาจำพรรษาที่วัดซำป่างาม จ.ฉะเชิงเทรา 

            ส่วนหลวงพ่อเงินได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม ท่านได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานและศาสนวัตถุในวัดที่ชำรุดทรุดโทรมจนวัด โมลีโลกยารามเจริญรุ่งเรืองเป็นที่เชิดหน้าชูตา เป็นที่เคารพศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนโดยถ้วนทั่ว 

ท่านมรณภาพในปี พ.ศ.2463 สิริอายุ 68 ปี

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

 

Visitors: 342,366