ตะกรุดหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ จ.พระนครศรีอยุธยา

ตะกรุดหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ .พระนครศรีอยุธยา

            ตะกรุดหลวงพ่อกลั่น ธัมมโชติ วัดพระญาติการาม จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านเป็นพระเถราจารย์ในตำนานที่มีชื่อเสียงทั้งในด้านของการปฏิบัติกรรมฐาน และการปลุกเสกวัตถุมงคล เพราะเชื่อกันว่า หลวงพ่อกลั่นนั้น เป็นผู้ที่มีความแก่กล้าในพลังจิตไม่เป็นรองใคร จึงทำให้วัตถุมงคลต่างๆ ที่ปลุกเสกโดยหลวงพ่อกลั่น ได้รับความนิยมอย่างมาก แม้ในอดีตหรือปัจจุบันก็ตาม 

            หลวงพ่อกลั่นเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ปลุกเสกเหรียญรูปเหมือนของท่านด้วยตัวของท่านเอง เหรียญรุ่นแรกของท่านเป็นที่นิยมอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เป็นเหรียญหลักอันดับ 1 ของเบญจภาคี เหรียญเกจิอาจารย์ของไทย เครื่องรางของขลังของท่านจะทำไว้ไม่มาก ส่วนมากจะเป็นตะกรุด

            สำหรับตะกรุดที่ปลุกเสกโดยหลวงพ่อกลั่น มีอยู่หลายรุ่น ส่วนมากท่านจะสร้างตะกรุดจากทองแดงและตะกั่ว แต่ละรุ่นล้วนมากด้วยประสบการณ์ จนเป็นที่เล่าขานกันมาปากต่อปาก ว่ากันว่า ตะกรุดของหลวงพ่อกลั่นโดดเด่นทางด้านอยู่ยงคงกระพัน เนื่องจากท่านมีวิชาชาตรี หรือวิชาลูกเบา ที่ไม่ต้องสักยันต์ลงไปในผิวหนัง แต่ใช้วิธีการชักยันต์เข้าตัว ซึ่งความอัศจรรย์ของวิชาลูกเบานี้ หากใครก็ตามที่จะมาทำร้ายโดยการใช้สิ่งของที่มีน้ำหนักมากมาทุ่มลงบนตัว คนที่มีวิชาลูกเบาจะรู้สึกเหมือนของชิ้นนั้น เป็นของเบา ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ 

            ด้วยเหตุที่ท่านมีความเชี่ยวชาญในวิชาอยู่ยงคงกระพัน ทำให้การสร้างตะกรุดของท่านโดยส่วนมาก จะโดดเด่นในอานุภาพอยู่ยงคงกระพันเป็นหลัก ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของชายชาตรีในสมัยก่อน ที่ปรารถนาอยากบูชาตะกรุดไว้เพื่อป้องกันตัวให้แคล้วคลาดจากอันตราย หรือคมหอกคมดาบของผู้ไม่หวังดีเข้ามาทิ่มแทงเนื้อหนัง ก็ไม่ทำให้ระคายผิว ชายหนุ่มในสมัยนั้นจึงพกพาเครื่องรางตะกรุดของหลวงพ่อกลั่นเป็นจำนวนมาก เพราะหากมีตะกรุดหลวงพ่อกลั่นแล้ว จะเดินทางไปที่ไหนก็เกิดความสบายใจและมั่นใจในความปลอดภัยของตนเอง 

 

            “หลวงกลั่น ธมฺมโชติ” ท่านเกิดเมื่อ ปี พ.ศ.2390 ตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาเจษฎาบดินทร์ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเกิด ณ ต.อรัญญิก อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อมีอายุได้ 27 ปี ท่านได้อุปสมบท ณ วัดโลกยสุธาศาลาปูน โดยมีพระธรรมราชานุวัตร (อาจ) เจ้าคณะใหญ่อยุธยา เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูกุศลธรรมธาดา วัดขุนยวน (วัดพรหมนิวาส) พระอธิการชื่น วัดพระญาติฯ เป็นคู่สวด ได้ฉายาว่า “ธมฺมโชติ” แปลว่า "เป็นผู้สร้างในทางธรรม หรือเจริญรุ่งเรืองในธรรม"
            หลังจากนั้นท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดประดู่ทรงธรรม ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัย และ เรียนรู้วิชาอาคม ตลอดจนสมุนไพร การแพทย์แผนโบราณจนแตกฉาน เมื่อฝึกฝนวิชาต่าง ๆ 
จนเชี่ยวชาญแล้ว จึงได้ออกธุดงค์ไปทั่วป่าเขาลำเนาไพรเผชิญสัตว์ร้ายนานาท่านออกธุดงค์ จนมาถึงวัดพระญาติการามในเวลาค่ำ ท่านพิจารณาว่า วัดนี้เงียบสงบดี เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม สามารถเจริญสมาธิและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้สะดวกจึงได้จำวัดอยู่ที่วัดแห่งนี้ และต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาส แห่งวัดพระญาติ "วัดพระญาติการาม" เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ราว ปี พ.ศ.2100

            หลวงพ่อกลั่นเป็นหนึ่งในสิบคณาจารย์ผู้มีพลังจิตสูง ใน ปี พ.ศ.2452 ที่จังหวัดนครปฐมได้มีการชุมนุมพระอาจารย์จากสำนักต่างๆ ทั่วประเทศไทย มีการทดสอบวิทยาคม และพลังจิตจากพระอาจารย์ทั่วประเทศที่ได้รับนิมนต์มาร่วมในพิธีร้อยกว่าองค์ ซึ่งแต่ละจังหวัดได้จัดให้พระอาจารย์เดินทางไปร่วมในพิธี โดยมีการทดสอบพระอาจารย์ต่างๆ ครั้งละสิบองค์ มี สมเด็จพระสังฆราช (เข) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ที่บริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ ในการทดสอบครั้งนั้นมีกติกาว่าให้เอาท่อนไม้มา 1 ท่อน วางบนม้า 2 ตัว แล้วเอากบไสไม้วางไว้บนท่อนไม้ แล้วประธานฝ่ายสงฆ์จึงบอกกติกาว่า อาจารย์องค์ใดสามารถทำกบไสไม้ให้วิ่งไสไม้ไปกลับได้โดยกบไม่หล่นทำการทดสอบกันถึงสามวันสามคืน พระอาจารย์ส่วนมากสามารถใช้จิตบังคับให้กบวิ่งไปได้ แต่กลับไม่ได้ 
ที่ทำให้กบไสไม้ไปกลับได้ มีด้วยกัน 10 รูป ในสิบรูปนั้นมีหลวงพ่อกลั่นเป็นหนึ่งในสิบนั้นด้วย
หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ
หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว
หลวงพ่อ วัดมะขามเฒ่า
หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง
หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน
หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก
หลวงพ่อทอง วัดเขากบทวาศรี นครสวรรค์
หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย
หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว
หลวงพ่อจอน วัดดอนรวบ ชุมพร

            ครั้งหนึ่ง"หลวงพ่ออั้น คนฺธาโร"พระอุปัฏฐากหลวงพ่อกลั่น ได้เล่าให้ลูกศิษย์ฟังถึงเรื่อง อำนาจจิตของหลวงพ่อกลั่นนั้นมากมายว่าครั้งที่เรียนวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อกลั่นว่า ขณะที่เรียนกรรมฐานนั้นหลวงพ่อกลั่นได้ให้หลวงพ่ออั้นไปนั่งปฏิบัติในโบสถ์ ขณะนั่งอยู่ หลวงพ่ออั้นมองเห็นหลวงพ่อกลั่นจากในนิมิตว่า เห็นท่านเดินจากกุฏิมานั่งอยู่ตรงหน้า คอยสั่งสอนว่าผิดตรงไหนควรทำอะไร อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องแปลกเพราะหลวงพ่ออั้นท่านก็รู้ว่า หลวงพ่อกลั่นท่านอยู่บนกุฏิ กำลังคุยเรื่องธุระกับญาติโยมที่มาหาท่าน แต่ท่านก็ยังแบ่งร่างมาสอนหลวงพ่ออั้นในโบสถ์ได้
หลวงพ่อกลั่นมรณภาพเมื่อ ปี พ.ศ.2477

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

 

Visitors: 341,568