เหรียญพุทธกวัก หลวงพ่อคงทอง (เต๋) วัดสามง่าม ปี 2502 เนื้อทองคำ

เหรียญพุทธกวัก หลวงพ่อคงทอง (เต๋) วัดสามง่าม ปี 2502 เนื้อทองคำ 

            เหรียญพุทธกวัก หลวงพ่อคงทอง (เต๋) วัดสามง่าม จ.นครปฐม (เหรียญหยุดปืน) จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2502 ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงระฆังคว่ำ ด้านหน้ารูปหลวงพ่อเต๋นั่งเต็มองค์ห่มคลุม ยกมือขวาขึ้น ด้านล่างมีข้อความว่า “หลวงพ่อคงทอง (เต๋)” ซึ่งเป็นนามที่ชาวบ้านนิยมเรียกท่านมีอักขระล้อมรอบนอก "นะ มะ นะ อะ นอ กอ นะ อะ นะ อะ กะ อัง" (คาถามหาอุด) องค์หลวงพ่อ มีอักขระยันต์ "พุท ธะ สัง มิ" ด้านหลังเหรียญเป็นอักขระยันต์ "นะ โม พุท ธา ยะ" "มะ อะ อุ" อุขึ้นยอด ล้อมด้วย ยันต์นวหรคุณเก้า "อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ พะ" เป็นมหาอุด มหาอำนาจ การจัดสร้างมี 1.เนื้อทองคำ 2.เนื้อนาค 3.เนื้อเงิน 4.เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง 5.เนื้อทองแดงรมดำ 

พุทธคุณโดดเด่นในด้าน เมตตามหานิยม ค้าขาย คุ้มครองป้องกันภัย แคล้วคลาด ประสบการณ์เยอะมาก จนมีชื่อเรียกเหรียญนี้ว่า “เหรียญหยุดปืน”

 

            หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม เกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ  ตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2434 ณ บ้านสามง่าม จ.นครปฐม เมื่ออายุได้ 7 ปี ลุงของท่านซึ่งบวชอยู่ที่วัดกาหลง จังหวัดสมุทรสาคร  มีชื่อว่า หลวงลุงแดง  เป็นพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในขณะนั้นรูปหนึ่ง  ได้ไปเยี่ยมญาติที่บ้านสามง่าม ได้พบหลานชายจึงได้ชวนให้ไปอยู่ด้วยกันที่วัดกาหลงเพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือ ธรรมะ และเวทมนต์คาถา เป็นเวลา 3 ปี จนสามารถเขียนอ่านได้เป็นอย่างดี จึงได้กลับมาบ้านเกิด

            หลวงลุงแดงของหลวงพ่อเต๋ ท่านเป็นผู้สนใจในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง  ท่านเห็นว่าบ้านสามง่าม  ควรจะมีวัดวาอารามสำหรับให้พระภิกษุและชาวบ้านประกอบกิจทางพระพุทธศาสนา  จึงได้ชักชวนหลานชายไปสร้างวัดขึ้นที่บ้านดอนตูม  ห่างจากบ้านสามง่ามประมาณ 3 กิโลเมตร

            เมื่อ หลวงพ่อเต๋ คงทอง มีอายุได้ 15 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร  ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่กับหลวงลุงแดง ร่วมจัดสร้างวัดใหม่ไปพร้อมกัน  รวมทั้งได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาอาคมเพิ่มเติมจากหลวงลุงแดง ประวัติหลวงลุงแดงท่านเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงโด่งดังและมีความเชี่ยวชาญพุทธาคมทั้งทางด้านเมตตามหานิยมและอยู่ยงคงกระพันชาตรี  มีลูกศิษย์ลูกหาเคารพนับถือมากมาย  อีกทั้งหลวงพ่อเต๋ มีศักดิ์เป็นหลานของท่าน  จึงได้รับถ่ายทอดวิชามาอย่างครบถ้วนโดยไม่มีการปิดบังอำพราง

            ปี พ.ศ. 2454 ท่านมีอายุได้ 21 ปี จึงได้ทำการบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  โดยมี พระครูอุตตรการบดี (หลวงพ่อทา)  วัดพะเนียงแตก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์เทศ วัดทุ่งผักกูด เป็นพระกรรมวาจาจารย์  และพระอธิการจอม วัดลำเหย เป็นพระอนุสาวนาจารย์  ได้รับฉายาทางธรรมว่า “คงทอง” ภายหลังเปลี่ยนเป็น “คงสุวัณโณ” แต่ชาวบ้านยังคงเรียกติดปากว่า “คงทอง”

            พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อเต๋  คือหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก  เป็นพระเถระผู้ทรงเกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดังมากในฐานะพระเกจิอาจารย์ที่มีพุทธาคมเข้มขลังในขณะนั้น  หลวงพ่อเต๋ได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งทางธรรม สมถกัมมัฏฐาน  ตลอดจนรับการสืบทอดด้านพุทธาคมต่าง ๆ

            ต่อมาไม่นาน หลวงลุงแดง มรณภาพลงที่วัดกาหลง สมุทรสาคร ก่อนมรณภาพท่านได้ฝากวัดสามง่ามให้หลวงพ่อเต๋ดูแล

            หลวงพ่อเต๋ เริ่มออกธุดงค์ระหว่าง ปี พ.ศ.2455 –2472 เป็นเวลา 17 ปี  รวมทั้งศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติม นอกจากที่ได้ศึกษาจาก หลวงลุงแดง  และ หลวงพ่อทา หลังจากหลวงพ่อทา มรณภาพแล้ว ท่านได้เดินทางไปขอศึกษาวิชาเพิ่มเติมกับ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง จากนั้นออกธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ และได้ศึกษาวิชาเพิ่มเติมกับพระอาจารย์อื่นทั้งพระสงฆ์และฆราวาส  อาทิ หลวงพ่อกอน วัดบ่อตะกั่ว นอกจากนี้ท่านยังเดินทางไปเรียนกับพระอาจารย์ทางจังหวัดพิจิตร ยังมีอีกหลายรูปในขณะที่เดินธุดงค์ รวมทั้งอาจารย์ฆราวาส ท่านเป็นชาวเขมร เคยเป็นอดีตแม่ทัพเขมร หลวงพ่อเต๋ได้พบอาจารย์ท่านนี้ที่เขาตะลุง จังหวัดกาญจนบุรี  เป็นอาจารย์ที่หลวงพ่อเต๋ เคารพนับถือมาก ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ท่านจะทำการไหว้ครูเขมรมิได้ขาด

            ภายหลังท่านกลับมาพำนักที่วัดสามง่ามได้ 3 ปี  ท่านทำการสร้างวัดสามง่ามต่อจากหลวงลุงแดงที่ฝากฝังไว้ให้ท่านสร้างต่อก่อนจะมรณภาพ  สมัยก่อน อุปกรณ์การก่อสร้างต่าง ๆ หาได้ยากมาก เรื่องไม้ที่จะนำมาสร้างวัดต้องเข้าไปเอาในป่าลึก กว่าจะได้ไม้มาแต่ละเที่ยวยากลำบาก การออกไปตัดไม้แต่ละเที่ยว ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 - 3 เดือน  และการนอนป่าหลวงพ่อเต๋ ก็มักจะใช้การตัดไม้ใหญ่เป็นที่พำนักอาศัย การเดินทางไปตามถิ่นต่าง ๆ ก็เพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา  ท่านจึงไม่กลัวต่อภยันตรายทั้งเสือ ช้าง อันเป็นสัตว์ป่าที่ดุร้าย  ตลอดจนสิ่งแวดล้อมภายในป่าที่เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ  ตลอดเวลา 15 ปี ในการตัดไม้มาก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดของท่าน  บางครั้งถึงกับอดน้ำ  นับว่าเป็นความอุตสาหะมานะอันแรงกล้าอย่างประเสริฐสุดหาที่เปรียบมิได้

            หลวงพ่อเต๋ เป็นผู้กอปรด้วยความเมตตาปรานี  ท่านจะให้ความรักความเมตตาแก่ศิษย์ทุกคนโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง  นอกจากนี้ท่านยังให้ความเมตตาต่อสัตว์เลี้ยง ได้แก่ วัว ชะนี นก สุนัข แมว ไก่ เป็นต้น  ไม่ว่านก สุนัข ไก่ และแมว ก่อนท่านจะฉันภัตตาหาร  ท่านจะต้องให้ข้าวสัตว์เหล่านี้เป็นนิจสิน

            ปี พ.ศ. 2475 กรรมการสงฆ์จังหวัดโดย พระเทพเจติยาจารย์  วัดเสน่หา เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ได้พิจารณาแต่งตั้งให้  หลวงพ่อเต๋เป็นเจ้าอาวาสวัดสามง่าม

            ปี พ.ศ. 2476 แต่งตั้งให้ท่านรักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะตำบล  มีวัดที่ขึ้นอยู่ในความปกครอง 5 วัด คือ วัดสามง่าม วัดลำลูกบัว วัดแหลมมะเกลือ วัดทุ่งสีหลง และวัดตะโกสูง

            การสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อเต๋ ท่านสร้างไว้หลายแบบมาตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทั้งแบบพระเนื้อดิน เนื้อผง เนื้อว่าน เหรียญรูปเหมือน พระกริ่ง รูปหล่อ เหรียญหล่อ และเครื่องรางของขลัง ตะกรุดหนังเสือ ตะกรุดสามห่วง สีผึ้ง เป็นต้น  แต่ละอย่างล้วนมีอภินิหารเป็นที่ประจักษ์และเล่าขานกันมาทุกวันนี้

            พระเครื่องของท่านไม่ได้เน้นเรื่องความสวยงาม  แต่เน้นเรื่องพุทธคุณ  เพราะท่านตั้งใจสร้างให้บูชาติดตัวเพื่อป้องกันภัยต่าง ๆ มีทั้งทางมหาอำนาจ  เมตตามหานิยม  แคล้วคลาด เนื้อพระส่วนมากเป็นแบบเนื้อดินผสมผงปนว่าน  เนื้อดินอาถรรพ์ที่นำมาจัดสร้างวัตถุมงคลได้แก่ ดินโป่ง 7 โป่ง ดิน 7 ป่าช้า ดินขุยปู เป็นต้น  ผสมลงไปในพระทุกพิมพ์ ด้านหลังองค์พระจะประทับชื่อ หลวงพ่อเต๋ กดลึกลงไปในเนื้อพระ

            วัตถุมงคลที่สร้างชื่อเสียงให้กับท่านมาจนทุกวันนี้คือ “ตุ๊กตาทอง”  หรือที่นิยมเรียกกันว่า “กุมารทอง” ตำราการสร้างได้จากหลวงลุงแดง  ประกอบด้วย ดินโป่ง 7 โป่ง ดิน 7 ป่าช้า ดินขุยปู เป็นต้น มาปั้นตุ๊กตาทอง (กุมารทอง) แจกชาวบ้าน  นำไปไว้เป็นเครื่องคุ้มครอง  เพราะดินดังกล่าวจะมีเทวดารักษา จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อเต๋ปั้นแล้วเอาวางนอนไว้  จึงทำการปลุกเสกให้ลุกขึ้นเองตามตำรา  ตุ๊กตาทองนี้นิยมกันมากใครได้ไปบูชามักจะมีเรื่องเล่าสู่กันฟังเป็นที่อัศจรรย์  ทำรายได้มหาศาล สามารถขออะไรสำเร็จทุกอย่างและเป็นที่ศรัทธาอย่างสูงของประชาชน

หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม มรณภาพลงโดยอาการสงบ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2524 รวมสิริอายุได้ 80 ปี 59 พรรษา 

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

 

Visitors: 342,604