หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค พิมพ์ทรงไก่หางพวง

หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค พิมพ์ทรงไก่หางพวง” 

            “พระหลวงพ่อปาน” มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “ผงวิเศษ 3 สูตร” ที่บรรจุในองค์พระ คือ ผงวิเศษหัวใจสัตว์ ผงวิเศษจากยันต์เกราะเพชร และผงวิเศษ 5 ประการ อันประกอบด้วย ผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงมหาราช ผงตรีนิสิงเห และผงพระพุทธคุณ ทำให้มีพุทธคุณอเนกอนันต์ ใช้งานสารพัดอย่างเป็นเลิศ 

            “พระหลวงพ่อปาน” ลักษณะเป็นพระเนื้อดินเผาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เจียนมุมทั้งสี่ด้าน เนื้อดินเป็นดินขุยปูและดินนวลตามทุ่งนา มีความละเอียดปานกลาง จึงมีเม็ดทรายเล็กๆ ปรากฏทั่วองค์พระ สีขององค์พระจะเป็นสีอิฐ หรือสีหม้อใหม่ เหมือนพระเนื้อดินทั่วไป 

            พุทธลักษณะองค์พระ ด้านบนเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ อยู่เหนือฐานบัลลังก์ก็มี ฐานเขียงก็มี ฐานผสมก็มี ฐานรูปกลีบบัว ทั้ง บัวชั้นเดียว สองชั้น บัวเม็ด หรือ บัวตุ่ม ก็มี 

            ส่วนด้านข้างพระประธานทั้งสองข้าง มีอักขระขอมตัวนูนข้างละ 2 ตัว คือ มะ อะ อุ อุ อันเป็นยอดพระคาถาหัวใจพระไตรปิฎก ‘ตรีเพชร’ 

            ด้านล่างใต้ฐานขององค์พระลงมาเป็นรูปสัตว์พาหนะ 6 ชนิด คือ

1.พิมพ์ทรงไก่

2.พิมพ์ทรงครุฑ

3.พิมพ์ทรงหนุมาณ

4.พิมพ์ทรงปลา

5.พิมพ์ทรงเม่น

6.พิมพ์ทรงนก

            “พระหลวงพ่อปาน” ทุกพิมพ์จะมี “อุดผงวิเศษ” ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้พระมักจะแคะเอาผงวิเศษออก เพื่อนำไปรักษาโรคบ้างหรือตามแต่จะนำไปใช้ ปัจจุบันจึงหาที่คงสภาพเดิมๆ ยากมาก

 

            “หลวงพ่อปาน” เกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2418 ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ใน ปี พ.ศ.2439 ณ พัทธสีมา วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี หลวงพ่อสุ่น วัดปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์จ้อย วัดบ้านแพน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์อุ่ม วัดสุธาโภชน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาจากพระอุปัชฌาย์ว่า"โสนันโท"

            หลวงพ่อปานท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงพ่อสุ่นอยู่พอสมควร

จึงได้เดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดสระเกศ กรุงเทพฯ และวัดเจ้าเจ็ดในพระนครศรีอยุธยา

และเรียนแพทย์แผนโบราณจาก วัดสังเวชฯ ศึกษาเพิ่มเติมกับ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย

และพระอาจารย์โหน่ง อิณฑสุวัณโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดคลองมะดัน

เรียนวิชาสร้างพระเครื่องดินจากชีปะขาว เรียนการปลุกเสกพระเครื่องและเป่ายันต์เกราะเพชรจากอาจารย์แจง สวรรคโลก 

ได้รับพระคาถาปัจเจกโพธิสัตว์มาจากครูผึ้ง อยุธยา

หลังจากนั้น ท่านจึงได้มาอยู่ที่วัดบางนมโคและได้รับพระราชทานสัมณศักดิ์เป็น"พระครูวิหารกิจจานุการ"

หลวงพ่อปาน โสนันโทได้ละสังขารไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2481

รวมสิริอายุได้ 63 ปี 42 พรรษา

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

 

Visitors: 341,617