พระกริ่งหน้ายักษ์ศิลปะลพบุรี หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง ปี 2511 เนื้อทองคำ

พระกริ่งหน้ายักษ์ศิลปะลพบุรี หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง ปี 2511 เนื้อทองคำ

            พระกริ่งหน้ายักษ์ศิลปะลพบุรี หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2511 โดยนายช่างเกษม มงคลเจริญ เป็นผู้ออกแบบรูปทรงพระกริ่ง พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยศิลปะลพบุรี ทรงเครื่องอลังการ พระพักตร์จะมีความเข้มแข็งและดุดันมาก ใต้ฐานอุดกริ่งที่ฝาอุดเป็นสัญลักษณ์ดอกพิกุล และมีการตอกโค้ตดอกพิกุลไว้ที่ใต้ฐาน การจัดสร้างมี 1.เนื้อทองคำ 2.เนื้อเงิน และ 3.เนื้อนวะโลหะ โดยเฉพาะเนื้อทองคำมีน้อยมาก เนื่องจากสร้างเท่าจำนวนสั่งจอง 

            ทั้งนี้ คณะกรรมการผู้จัดสร้างได้จัดพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ ณ พระอุโบสถวัดพิกุลทอง เมื่อปี พ.ศ.2511 พิธีในครั้งนั้นจัดได้ว่าเป็นพิธีพุทธาภิเษกที่ยิ่งใหญ่สมบูรณ์น่าเลื่อมใส โดยมีหลวงพ่อแพ เขมังกโร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีพระเกจิอาจารย์ดังทั่วประเทศเข้าร่วมพิธีอย่างคับคั่ง 

 

“หลวงพ่อแพ เขมังกโร” ท่านเป็นชาวสิงห์บุรีโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ.2448 ที่บ้านสวนกล้วย ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี อายุ 11 ปี ด.ช.แพ ขำวิบูลย์ ได้ไปศึกษาเล่าเรียนตามแบบโบราณนิยมที่สำนักอาจารย์ป้อม และเข้าศึกษาต่อที่สำนักวัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ ได้ระยะหนึ่ง จึงกลับมาบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดพิกุลทอง โดยมีพระอธิการพัน จันทสโร เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วเดินทางกลับวัดชนะสงครามตามเดิม จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ตั้งแต่เป็นสามเณร 

            เมื่ออายุครบบวชจึงกลับมาอุปสมบทที่วัดพิกุลทองอีก โดยมีพระมงคลทิพย์มุนี เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูสิทธิเดช วัดชนะสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ ท่านเจ้าอธิการอ่อน วัดจำปาทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “เขมังกโร” แล้วเดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดชนะสงคราม ศึกษาด้านพระปริยัติธรรมขั้นสูง จนได้เปรียญ 4 ประโยค ได้เป็น “พระมหาแพ” หลังจากนั้นมานัยน์ตาเกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง การศึกษาด้านพระปริยัติธรรมจึงต้องยุติลง แต่ด้วยความเป็นผู้ใฝ่ศึกษา ท่านจึงหันมาศึกษาด้านสมถกัมมัฎฐานและวิปัสสนากัมมัฎฐานที่สำนักพระครูภาวนา วัดเชตุพนฯ และยังได้เป็นศิษย์รูปหนึ่งของ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ ด้วย ต่อมาทราบว่าที่อำเภอบางระจัน มีพระอาจารย์เรืองวิทยาคมและวาจาศักดิ์สิทธิ์นัก ชื่อ หลวงพ่อศรี เจ้าอาวาสวัดพระปรางค์ ท่านจึงเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์และยังเป็นที่โปรดปรานของพระอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง

            ปี พ.ศ.2473 อาจารย์หยด เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง ลาสิกขาบท ชาวบ้านจึงร่วมกันนิมนต์หลวงพ่อแพให้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบแทนในปี พ.ศ.2474 ท่านจึงเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อปกครองวัดพิกุลทอง โดยขณะนั้นมีอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น และวัดพิกุลทองก็ชำรุดทรุดโทรมมาก ท่านจึงไปปรึกษา หลวงพ่อศรี พระอาจารย์ และด้วยบารมีของพระเกจิทั้งสองรูป จึงสามารถบูรณปฏิสังขรณ์ รวมทั้งสร้างถาวรวัตถุภายในวัดพิกุลทองได้ในเวลาอันรวดเร็ว อันได้แก่ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ หอประชุมกุฎิสงฆ์ หอไตร หอฉัน ศาลาวิปัสสนา โรงฟังธรรม และ ฌาปนสถาน เป็นต้น นอกจากนี้ ท่านยังสร้างความเจริญให้ท้องถิ่นอีกมากมายเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ ทั้ง โรงพยาบาล, ที่ว่าการอำเภอ, สถานีตำรวจ, สถานีอนามัย, โรงเรียนประชาบาล, สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนอาคารผู้ป่วยของโรงพยาบาลสิงห์บุรีที่เป็นอนุสรณ์สืบมาจนปัจจุบัน คือ อาคารหลวงพ่อแพ 80 ปี, อาคารหลวงพ่อแพ 86 ปี (อาคารเอ็กซเรย์), อาคารหลวงพ่อแพ 90 ปี และ อาคารหลวงพ่อแพ เขมังกโร ที่โดดเด่นเป็นสง่าภายในโรงพยาบาลสิงห์บุรี

            “หลวงพ่อแพ” เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนโดยถ้วนหน้า มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ท่านได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เรื่อยมา สมณศักดิ์สุดท้ายเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมมุนี 

            “หลวงพ่อแพ” ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542 รวมสิริอายุ 94 ปี พรรษา 73 ปัจจุบัน สรีระของหลวงพ่อแพยังคงประดิษฐาน ณ วัดพิกุลทอง เพื่อให้ญาติโยมและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้สักการบูชาสืบมา

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

 

Visitors: 342,602