พระกริ่งคลองตะเคียน พระกรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระกริ่งคลองตะเคียน พระกรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

“พระกริ่งคลองตะเคียน” พระกรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แหล่งกำเนิด อยู่ที่บริเวณ ตำบลคลองตะเคียน โดยกระจาย อยู่ทั่วไป และบริเวณวัดประดู่ 

ที่เรียกว่า "พระกริ่ง" ลักษณะขององค์พระเมื่อเขย่าแล้วเกิดเสียงดัง 

ส่วนคำว่า "คลองตะเคียน" คือแหล่งกำเนิดที่พบองค์พระครั้งแรก

พระกริ่งคลองตะเคียน เป็นพระเนื้อดินที่ผสมผงใบลาน ว่านร้อยแปด มวลสารศักดิ์สิทธิ์และเกสรดอกไม้มงคล ไม่ใช่พระเนื้อโลหะเช่นพระกริ่งโดยทั่วๆ ไป แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของพระกริ่ง คือ พระทุกองค์จะต้องเจาะกลวงและบรรจุเม็ดกริ่งเข้าไป เวลาเขย่าจะมีเสียงดัง

ด้วยมวลสารที่ผสมเป็นองค์พระมีผงใบลานเผาผสมอยู่ด้วย จึงทำให้เนื้อขององค์พระออกสีดำมัน 

พุทธลักษณะขององค์พระสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระในสมัยอยุธยายุคปลายๆ ซึ่งสร้างโดยพระเกจิผู้เรืองวิทยาอาคม 

พระกริ่งคลองตะเคียน มีพุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะฐานสูง ภายใต้ต้นโพธิ์ มีใบโพธิ์ปกคลุมเป็นร่มเงาคล้ายๆ กับพระคงลำพูน มียอดเป็นปลีสูง พระพักตร์กลมนูนไม่ปรากฏรายละเอียด 

ส่วนด้านหลังเป็นหลังอูม และมียันต์อักขระจาร บางองค์ก็สร้างเป็นองค์พระทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่ทุกองค์จะต้องมีอักขระจารอยู่ทั้งสิ้น 

“พระกริ่งคลองตะเคียน” สามารถแบ่งแยกสีได้ 3 สี คือ สีดำ, สีเขียวอมเทา และสีเหลืองอมเขียว 

พระกริ่งคลองตะเคียนมีทั้งหมด 4 พิมพ์ คือ 
พระกริ่งคลองตะเคียน พิมพ์หน้าใหญ่ไหล่ยก
พระกริ่งคลองตะเคียน พิมพ์สองหน้า
พระกริ่งคลองตะเคียน พิมพ์หน้าเล็ก
พระกริ่งคลองตะเคียน พิมพ์พระปิดตา

“พระกริ่งคลองตะเคียน” มีพุทธคุณเป็นเลิศในด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี โดยเฉพาะเรื่องเขี้ยวงานั้นถือว่าสุดยอด จนโบราณาจารย์มีคำกล่าวเปรียบเปรยถึง “พระกริ่งคลองตะเคียน” ไว้ว่า "หน้าใหญ่ ไหล่ยก อกต่ำ ผิวดำสนิท กันเขี้ยวขออสรพิษ ต้องคลองตะเคียน"

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

 

Visitors: 341,797