เหรียญเจ้าพ่อพญาแล จังหวัดชัยภูมิ รุ่นแรก ปี พ.ศ.2496 เนื้อเงิน

“เหรียญเจ้าพ่อพญาแล จังหวัดชัยภูมิ รุ่นแรก ปี พ.ศ.2496 เนื้อเงิน”

เหรียญเจ้าพ่อพญาแล จังหวัดชัยภูมิ รุ่นแรก จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2496 

ลักษณะเป็นเหรียญปั้มรูปไข่ หูในตัว 

ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนเจ้าพ่อพญาแลหน้าตรงครึ่งตัว แต่งเต็มยศเยี่ยงขุนนางไทย สวมเสื้อลายกนก มีอักษรไทยด้านล่างว่า “เจ้าพ่อพญาแล”

ด้านหลังเหรียญเป็นยันต์ 

เหรียญรุ่นนี้ตอนสร้างมีการประกอบพิธีชัยมังคลาภิเษกอย่างเข้มขลัง ด้วยคุณูปการคุณงามความดีของท่าน และปรากฏเรื่องราวอัศจรรย์ที่ท่านคอยปกปักรักษาผู้คนให้อยู่เย็นเป็นสุข จึงเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสะสมและแสวงหามาก โดยเฉพาะในจังหวัดชัยภูมิและพื้นที่ใกล้เคียง นับเป็นเหรียญมงคลเหรียญหนึ่งที่น่าเก็บสะสมไว้

 

เจ้าพ่อพญาแล (พระยาแล) หรือ พระยาภักดีชุมพล (แล) เป็นอดีตเจ้าเมืองของชัยภูมิคนแรก ผู้มีความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน วีรกรรมของท่านปรากฏในปี พ.ศ.2369 เมื่อเจ้าอนุวงศ์เกลี้ยกล่อมผู้คนให้เข้าเป็นพวก แต่ท่านไม่ยินยอมจนถูกจับประหารชีวิต ณ บริเวณใต้ต้นมะขามใหญ่ ริมหนองปลาเฒ่า บ้านหนองหลอด ต.รอบเมือง จ.ชัยภูมิ ราษฎรได้พร้อมใจกันตั้งศาลขึ้นเรียกขานกันสืบต่อมาว่า “ศาลเจ้าพ่อพญาแล” และในปี พ.ศ.2521 ได้มีการสร้างเหรียญที่ระลึกขึ้น

สมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยานั้น บริเวณเมืองชัยภูมิยังเป็นดินแดนรกร้าง จนล่วงมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีชายผู้หนึ่งชื่อ “แล” เคยเป็นข้าราชสำนักในเวียงจันทน์ อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านน้ำขุ่น หนองอีจาน (ปัจจุบันคือ บ้านชีลอง) แต่ก็ยังส่งส่วยให้เจ้าอนุวงศ์มิได้ขาด จนได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ แล้วตั้งบ้านเมืองใหม่ขึ้นที่ “บ้านหลวง”

ในปี พ.ศ.2367 บ้านหลวงได้ยกฐานะเป็น “เมืองชัยภูมิ” ขึ้นตรงต่อนครราชสีมา และนายแลได้สวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ เมื่อเจ้าอนุวงศ์ยกทัพเข้ามาตีกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2369 โดยมีอุบายว่าจะมาช่วยกรุงเทพฯ รบกับอังกฤษ และสามารถยึดเมืองนครราชสีมาได้ โดยกวาดต้อนผู้คนจะนำไปเวียงจันทน์ จนเกิดวีรกรรมของ คุณหญิงโม หรือ ท้าวสุรนารี ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ขึ้น บรรดาเมืองใกล้เคียงรวมทั้งชัยภูมิได้ยกกำลังไปช่วยชาวไทยสยามตีกระหนาบจนทัพเจ้าอนุวงศ์แตกพ่ายไป

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งนายแลเป็น พระยาภักดีชุมพล (แล) เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก แต่ทหารเจ้าอนุวงศ์ที่ยังกระจัดกระจายอยู่แถบนั้นเกิดความแค้น ยกทัพบุกเข้าจับพระยาภักดีชุมพลทำการประหารเสีย ณ บริเวณใต้ต้นมะขามใหญ่ ริมหนองปลาเฒ่า ด้วยความดีงามและความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ประชาชนจึงพากันตั้งศาลขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่โคนต้นมะขามเฒ่า เรียกว่า “ศาลเจ้าพ่อพญาแล”

ต่อมาเมื่อพระยาภักดีชุมพล (ที) ย้ายมาเป็นเจ้าเมือง ได้ย้ายที่ตั้งเมืองชัยภูมิมาอยู่ที่บ้านหินตั้ง และในปี พ.ศ.2475 นายช่วย นนทะนาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิในสมัยต่อมา ได้ริเริ่มสร้าง “อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแล” ขึ้นที่บริเวณสี่แยกถนนหน้าศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ โดยแล้วเสร็จในปีนั้น และกำหนดให้มี “การฉลองอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแล” เป็นประเพณีสืบทอดกันต่อมาในวันที่ 12 มกราคมของทุกปี

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

 

Visitors: 341,811