พระท่ากระดาน วัดท่ากระดาน จ.กาญจนบุรี

“พระท่ากระดาน วัดท่ากระดาน จ.กาญจนบุรี”

“พระท่ากระดาน” เป็นพระที่ถูกสร้างในสมัยอู่ทอง คือ ประมาณปี พ.ศ.1800 ถึง พ.ศ.2031 

พระท่ากระดาน เป็นพระเครื่องที่มีประติมากรรมแบบ แบน นูนสูง คือมีภาพด้านหน้าด้านเดียว ด้านหลังแบนเรียบ และจะเน้นส่วนนูนสูงและส่วนลึก

พระท่ากระดานเป็นพระประติมาปางมารวิชัย มีฐานหนาซึ่งเรียกว่าฐานสำเภา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระยุคอู่ทอง 

พระท่ากระดานเป็นพระที่สร้างให้มีใบหน้าชัดเจน ทั้งจมูก ปากและหู ใบหน้าลึก ลักษณะคล้ายยิ้มแบบเครียดๆ ลักษณะแบบอู่ทอง 

เกศของพระท่ากระดานนั้นสันนิฐานว่าจะทำเป็นเกศยาวทุกองค์และตรงขึ้นไป เกี่ยวกับอายุมากและอยู่ใต้ดินถูกทับถมเลยทำให้ปลายเกศซึ่งมีความบอบบางอาจหักชำรุด หรือคดงอ เลยทำให้ปลายเกศของพระท่ากระดานมีหลายลักษณะ 

ผู้ที่สร้างพระท่ากระดานสันนิฐานว่าคือผู้เรืองเวทย์ ซึ่งเป็นฆราวาส มิใช่พระสงฆ์ หรือผู้ที่เรียกกันว่า “ฤๅษี” ในยุคโบราณ เพราะเป็นการสันนิฐานจากแผ่นจารึกลานทองของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และของสุโขทัย ซึ่งมีคาบเกี่ยวกับอู่ทอง คือ จารึกแผ่นลานเงินของวัดบรมธาตุกำแพงเพชร กล่าวถึงการสร้างพระเครื่อง ของบรรดาพระฤๅษีทั้งหลาย 11 ตนที่สร้างพระเครื่อง มีฤๅษีอยู่ 3 ตน ที่ถือเป็นใหญ่ ก็คือ ฤๅษีพิราลัย ฤๅษีตาไฟ ฤๅษีตาวัว 

และสันนิฐานกันว่าผู้ที่สร้างพระท่ากระดานก็คือ ฤๅษีตาไฟ โดยการอาราธนาของเจ้าเมือง “ท่ากระดาน” เมื่อสร้างแล้วก็นำมาบรรจุไว้ในอารามสำคัญในเมืองท่ากระดาน เมืองสวัสดิ์ และเมืองกาญจนบุรีเก่าในยุคนั้น

กำเนิดของพระท่ากระดานครั้งแรกได้ถูกค้นพบที่ ”กรุถ้ำลั่นทม” เป็นแห่งแรก กรุนี้อยู่ห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 70 ก.ม. อยู่ทางทิศเหนือของแม่น้ำแควใหญ่ มิได้อยู่ในเขตตำบลท่ากระดาน พระจากกรุนี้พบในบริเวณถ้ำในบริเวณหน้าถ้ำมีเจดีย์โบราณอยู่หลายองค์ พระที่ถูกค้นพบมีอยู่ด้วยกันหลายร้อยองค์ และพบแม่พิมพ์ของพระท่ากระดาน พร้อมกับเศษตะกั่วสนิมแดงเกิดขึ้นอีกมากมาย ทำให้สันนิฐานว่าบริเวณถ้ำลั่นทมนี้ คือสถานที่สร้างพระท่ากระดาน และเป็นที่อยู่ของพระฤๅษีผู้สร้างพระท่ากระดานในสมัยนั้น

ในปี พ.ศ.2495-2496 ได้มีการขุดค้นพบพระท่ากระดานอีก ที่กรุวัดเหนือ (วัดบน) วัดกลาง และวัดใต้ (วัดล่าง) ที่ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ พระที่ถูกค้นพบมีมากพอสมควร คือมีจำนวนรวมตัวกันแล้วประมาณหลายร้อยองค์ พระที่ค้นพบในบริเวณสามวัดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพระที่มีการปิดทองทุกองค์และด้านหลังจะเป็นล่องหรือแอ่งลึกแทบทุกองค์ พระจะมีสนิมแดงเข้มดูสวยงาม

พระที่ถูกค้นพบในยุคนั้นที่ถือว่าสวยและสมบูรณ์มากก็คือวัดกลางซึ่งมีผู้เรียกวัดนี้ว่า “วัดท่ากระดาน” นั้นเอง

ในเวลาต่อมาวัดเหนือ หรือวัดบน และวัดใต้ หรือวัดล่อง ได้ถูกน้ำกัดเซาะทำให้ตลิ่งพังวัดทั้งสองจึงพังทลายลงสู่ลำน้ำทั้งสองวัดบริเวณวัดตั้งอยู่ริมน้ำที่ยังหลงเหลืออยู่ก็ คือวัดกลางหรือวัดท่ากระดานเท่านั้น

ในปี พ.ศ.2506 ได้มีการขุดค้นพบพระท่ากระดานอีก ที่บริเวณวัด “นาสวน” (วัดต้นโพธิ์) อยู่เหนือที่ว่าการอำเภอศรีสวัสดิ์เล็กน้อยเป็นบริเวณพระอารามร้าง ในการพบในครั้งนั้นได้พระท่ากระดานจำนวนไม่มากนักคือจำนวนไม่กี่สิบองค์

วัดที่ได้กล่าวข้างต้นนั้น ทั้งหมดอยู่ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ อาจกล่าวได้ว่าพระเหล่านั้น นักนิยมพระเครื่องมักเรียกว่าพระกรุเก่า หรือกรุศรีสวัสดิ์ ทั้งสิ้น

นอกเหนือจากกรุขุดพบบริเวณเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ ยังมีการขุดค้นพบที่บริเวณ “วัดหนองบัว” ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลหนองบัว อำเภอเมืองกาญจนบุรีอีก พบจากการปฏิสังขรณ์พระอารามได้พระท่ากระดานประมาณ 90 องค์ 

เมื่อปี พ.ศ.2497 ได้มีการพบพระกระดานอีกเป็นจำนวนมากที่ “วัดเหนือ” (วัดเทวสังฆาราม) ตั้งอยู่ที่เขตอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีโดยทางวัดได้ทำการเจาะพระเจดีย์องค์ประธาน เพื่อที่จะบรรจุพระ 25 พุทธศตวรรษ ก็พบไหโบราณ ซึ่งบรรจุพระท่ากระดานและได้พบพระอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่น พระขุนแผนสนิมแดงห้าเหลี่ยม พระท่ากระดานหูช้าง และพระอื่นๆ อีกมาก

วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) ถือว่าเป็นวัดที่พบพระท่ากระดานที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะพระจะอยู่ในไหและเป็นพระที่สมบูรณ์มากที่สุด

ในปี พ.ศ.2507 ได้มีการพบพระท่ากระดานอีกมากที่ “วัดท่าเสา” ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรีนอกจากนั้นยังค้นพบพระท่ากระดานน้อย (พระท่าเสา) อีกจำนวนหนึ่งที่เข้าใจว่าจะเป็นพระยุคหลังกว่าพระท่ากระดานพิมพ์ใหญ่

ในปี พ.ศ.2537 ได้มีกานค้นพบพระท่ากระดานอีกที่บริเวณตำบลลาดหญ้าอีก แถวบริเวณใกล้ๆ กับค่ายทหารกองพลที่ 9 พระที่ค้นพบในครั้งนั้นถือว่าสมบูรณ์มาก แต่สนิมของพระท่ากระดานจะมีไขขาวคลุมเกือบทุกองค์ และจะมีทองกรุปิดเกือบทุกองค์ จุดเด่นของพระกรุนี้จะมีเกศยาวกว่าทุกกรุ พระที่พบมีอยู่ประมาณกว่า 50 กว่าองค์เท่านั้น

ปี พ.ศ.2541 ได้มีการพบพระท่ากระดานได้ในถ้ำเมืองอำเภอผาภูมิ พระที่พบจะมีลักษณะผิวพระจะไม่เรียบมีผิวขรุขระเกิดจากการพองของไขสนิม เพราะพระที่มีอยู่ในถ้ำซึ่งมีอากาศชื้นนั่นเอง และพระที่พบส่วนใหญ่จะชำรุดโดยเฉพาะคอจะหักเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่สมบูรณ์มีไม่เกิน 20 องค์ ถือว่าเป็นพระที่เป็นการพบครั้งล่าสุด

พระท่ากระดานนอกจากจะเป็นพระชั้นหนึ่ง ของจังหวัดกาญจนบุรีแล้ว ยังถูกจัดอยู่ในชุดเบญจยอดขุนพลซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด ของพระเนื้อโลหะด้วย ถือว่าเป็นพระที่มีราคาเช่าหาสูง 

พุทธคุณนั้นเปี่ยมล้นไปด้วยความขลังไม่ว่าทางแคล้วคลาด หรือคงกระพันชาตรี จนมีผู้กล่าวขานกันว่าพระท่ากระดานนั้นคือ “ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลองเลยทีเดียว” พระท่ากระดานไม่ว่าจะเป็น “พระกรุเก่า” หรือ “พระกรุใหม่” ถือว่าสร้างพร้อมกันต่างกันเพียงสถานที่พบและระยะเวลาการขุดพบเท่านั้นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

 

Visitors: 342,324