พระนาคปรก กรุเมืองไพร จ.ร้อยเอ็ด

“พระนาคปรก กรุเมืองไพร จ.ร้อยเอ็ด”

พระนาคปรก กรุเมืองไพร จ.ร้อยเอ็ด มีการขุดพบเมื่อ ปี พ.ศ.2517

ขุดพบที่เนินดินหลังบ้านของ นางทองม้วน และนายบุญมา ซึ่งอยู่ที่ ต.เมืองไพร อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

พระเครื่องที่พบครั้งนี้มีจำนวนทั้งหมด 3,000 องค์ แต่ก็มีพระที่ชำรุดหักเสียถึง 50%

โดยเป็นพระเครื่องเนื้อดินผสมผง (ไม่มีเนื้ออื่นเลย) และเป็นพระพิมพ์นาคปรกทั้งหมด

ซึ่งในเวลาต่อมาพระเครื่องพิมพ์นี้ก็ได้ขนานนามว่า "พระนาคปรกกรุเมืองไพร"

เป็นที่สังเกตอยู่อย่างที่เนื้อพระกรุนี้จะใกล้เคียงกับพระสกุลลำพูนมาก

จะผิดไปบ้างก็ตรงเนื้อกระด้างไปนิดหน่อยเท่านั้นเอง แต่ถึงกระนั้นพระบางองค์ก็จะมีฝ้ากรุราดำเป็นดวงหุ้มอยู่แน่นหนา

พระนาคปรกเมืองไพร เป็นพระเครื่องพิมพ์นาคปรกปางสมาธิประทับนั่งบนฐานขดนาค 3 ชั้น

โดยมีขนาดเจ็ดเศียรแผ่ปรากฏอยู่เบื้องหลังองค์พระอย่างชัดเจน นับเป็นพระเครื่องแบบทวารวดียุคปลายพิมพ์แรกที่ให้ความอลังการไว้อย่างครบถ้วนทีเดียว

ข้อแตกต่างระหว่าง "พิมพ์" พระปรกเมืองไพร เป็นพระเครื่องที่มีขนาดเดียว

แต่พิมพ์หาใช่ว่าจะเหมือนกันไปหมดก็หาไม่ เมื่อตรวจดูแล้วพระนาคปรกกรุนี้จะแยกพิมพ์ออกได้ถึง 2 พิมพ์ด้วยกันดังนี้

“พิมพ์ใหญ่” ลักษณะผึ่งผายสมส่วนความงามอยู่ในระดับขั้นดี การตัดส่วนดีมาก เพราะปีกที่รองรับนาคปรก 7 เศียรนั้นจะปรากฏแผ่กว้างรองรับนาคไว้โดยไม่โค้งเว้าเลยพระเนตรของพระพิมพ์นี้อยู่ในอาการของครึ่งปิด ด้านหลังจะอูมมากคล้ายกับแตงกวาผ่าซีกและจะมีลายมือติดอยู่ด้วย

“พิมพ์เล็ก” ลัษณะของพระพิมพ์เล็กนี้ถ้าดูในด้านความงามแล้ว นับว่าเป็นเยี่ยมดีกว่าทุกพิมพ์ แต่ปีกที่รองนาคเจ็ดเศียรนั้น จะมีการตัดส่วนโค้งขยักอยู่หลายตอนที่บริเวณเศียรนาค พระเนตรพิมพ์นี้จะจะเป็นตุ่มปรากฏเด่นเป็นพระเนตรขณะลืมอยู่ ส่วนด้านหลังจะมีลายมือติออยู่แต่ไม่อูมนูนจนเกินไปและบางองค์หลังเกือบจะแบนก็มี

พระทั้ง 2 แบบนี้เป็นการแยกพิมพ์พอให้เห็นข้อแตกต่างกันเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วหากเราไม่สังเกตอย่างละเอียดกันแล้ว พระนาคปรก กรุเมืองไพรนี้จะแลดูเหมือนๆ กันไปหมดทีเดียว การที่ต้องแยกไว้นี้เป็นเรื่องของนักสะสมรุ่นเก่าที่ได้ทำการสังเกตพระแล้วกำหนดข้อแตกต่างกันไว้เท่านั้น

ส่วนในด้านพุทธคุณแล้ว ต่างองค์ต่างพิมพ์ต่างก็เหมือนกัน และดีอยู่ในระดับเดียวกันโดยมิได้ลดน้อยไปกว่ากันเลย

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Google.

Visitors: 341,766