เหรียญหลวงพ่อพรหม รุ่นแจกทาน

เหรียญหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค จังหวัดนครสวรรค์ รุ่นแจกทาน
"หลวงพ่อพรหม ถาวโร" วัดช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
มีชื่อเสียงเกียรติคุณขจรขจายไปทั่ว ในช่วงที่ท่านดำรงชีพอยู่นั้น ทำวัตถุมงคลไว้มากมายหลายแบบ มีศิษยานุศิษย์สร้างถวายก็มาก
เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 เม.ย. 2426 ที่ ต.แพรก อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา
อุปสมบทที่วัดเขียนลาย ต.บ้านแพรก อ.บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2447 มีหลวงพ่อถม วัดเขียนลาย เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา "ถาวโร"
หลังอุปสมบท ท่านศึกษาเล่าเรียนภาษาขอมจนชำนาญ และฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกับ หลวงพ่อดำ อยู่ 4 ปี ก่อนออกเดินธุดงค์หลายพรรษา
เคยไปประเทศพม่าถึงเมืองย่างกุ้ง นมัสการพระเจดีย์ชเวดากอง ธุดงค์ผ่านเจดีย์สามองค์ ผ่านเทือกเขาน้อยใหญ่ และธุดงค์ไปอยู่ประเทศพม่าเป็นเวลานาน ก่อนเดินทางกลับไทยทางด่านแม่ละเมา จ.ตาก
เดินธุดงค์ไปจนถึงเขาช่องแค ต.พรหมนิมิต อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เกิดฝนตกหนัก จึงหลบเข้าไปอยู่ในถ้ำเล็กๆ ต่อมาเห็นว่าเป็นที่วิเวกเหมาะแก่การบำเพ็ญธรรม ท่านจึงได้อยู่ปฏิบัติสมาธิเจริญภาวนา ที่ถ้ำเล็กๆ ที่เขาแห่งนี้
ชาวบ้านแถวนั้นเห็นวัตรปฏิบัติเกิดความเลื่อมใส กำนันคล้าย มีสวัสดิ์ และกลุ่มชาวบ้านช่องแค ได้ไปนิมนต์หลวงพ่อพรหม ลงมาจำพรรษาข้างล่าง คือ วัดช่องแคในปัจจุบัน
เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกวัดช่องแค ชาวบ้านร่วมใจกันบริจาคที่ดินเพิ่มเติม เริ่มต้นสร้างวัดที่รกร้าง เมื่อปี พ.ศ.2460 จนกลายมาเป็นวัดที่มีกุฏิ ศาลาการเปรียญ โรงครัว ส่วนหนึ่งของทรัพย์สินมาจากการขายสมบัติส่วนตัวและมรดกของโยมพ่อ
ตลอดเวลาที่จำพรรษาอยู่ที่วัดช่องแค ท่านสร้างคุณูปการมากมายให้กับชุมชนและประชาชนทั่วไป
หลวงพ่อพรหม มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2518 เวลา 15.00 น. ที่โรงพยาบาลบ้านหมี่ จ.ลพบุรี อายุ 91 ปี พรรษา 71
เหรียญสำคัญอีกเหรียญหนึ่งของท่าน เรียกกันว่า "เหรียญแจกทาน" นับเป็นเหรียญยอดนิยมรองลงมาจากเหรียญรุ่นแรก (บล็อกแรก) คิดดูก็แล้วกันหลังจากออกเหรียญเพียงเดือนสองเดือนเท่านั้น เหรียญแจกทานได้ทวีราคาสูงจากหลักร้อยขึ้นติดหลักพันในสมัยนั้นอย่างรวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม
อันว่า "เหรียญแจกทาน" นั้น ความเป็นจริงทำออกเป็นสองพิมพ์ และสร้างคราวเดียวกัน ปลุกเสกเหมือนกัน เรียกว่าแท้ทั้งสองพิมพ์ ที่เรียกว่า "สองพิมพ์" เพราะเหมือนเหรียญโบราณของเกจิอาจารย์ทั่วไปคือ ด้านหน้ามี 2 พิมพ์ ส่วนด้านหลังจะมีเพียงพิมพ์เดียว และมีข้อสังเกตดังนี้
เหรียญแจกทานพิมพ์ที่ 1 (สังฆาฏิยาว)
- จะมีเส้นสังฆาฏิยาวตลอดลงไปจนจรดพื้นเหรียญ ดูเผินๆ เหมือนหลวงพ่อพรหมนั่งทับเส้นสังฆาฏิ
- ใต้ฐานจะมีเม็ดกลมที่เรียกว่า "เม็ดไข่ปลา" บริเวณก่อนคอระฆัง ทางขวามือของหลวงพ่อ รวม 5 เม็ด เรียงเป็นแนวตวัดขึ้นไปจรดขอบเส้นใต้พระเพลาทั้งหมด
- ปลายเส้นกรอบตัวหนังสือคำว่า "หลวงพ่อพรหม" มีรอยเส้นแกะพิมพ์เกิน เหลื่อมออกมาทางด้านหน้า เป็นเส้นนูนแหลมอยู่ 1 เส้น
เหรียญแจกทานพิมพ์ที่ 2 (สังฆาฏิสั้น)
- เส้นสังฆาฏิสั้น ปลายสุดอยู่แค่หน้าตัก ไม่ยาวจรดพื้นเหรียญเหมือนพิมพ์ที่ 1 เรียกว่า สังฆาฏิสั้นกว่า
- เม็ดไข่ปลาใต้ฐานอาสนะด้านขวามือของหลวงพ่อทางด้านขวา จะมีเป็นเม็ดเล็กๆ 5 เม็ด อยู่ระหว่างกลางของขอบระฆังชั้นที่สองกับเส้นใต้พระเพลา เรียกว่า ไม่เรียงเอียงขึ้นไปหาเส้นใต้อาสนะเหมือนพิมพ์ที่ 1 คือ อยู่กึ่งกลาง
- ปลายเส้นกรอบหนังสือคำว่า "หลวงพ่อพรหม" ปรากฏเส้นนูนขีดในแนวดิ่งขนานลงมากับเส้นกรอบ
สำหรับด้านหลัง ดังได้กล่าวแล้วว่าด้านหลังมีพิมพ์เดียว มีข้อสังเกตดังนี้
- อักษรตัว "มะ" มีเส้นซ้อนคล้ายจะทับกันเป็นสองตัว ทั้งที่จริงเป็นตัวเดียว
- หัวตัว "อะ" ที่คล้าย "ร.เรือ" ตัวหลัง จะแยกกันเล็กน้อยคล้ายปากตะขาบ
- เหนือตัว "ช" บริเวณไม้เอก มีเส้นนูนที่พื้นเหรียญเล็กน้อย
- หางตัว "ง" ตรงคำว่า "ช่องแค" มีเส้นแยกออกเป็นสองแฉก
มีข้อสังเกตอีกว่า เนื่องจากเหรียญนี้ดังมาก มีผู้ทำเทียมเลียนแบบมาก ให้ดู "เหรียญเสริม" จากพื้นเหรียญด้านหน้าและด้านหลังจะมีตุ่มนูนลักษณะคล้ายผิวมะระ ซึ่งเกิดจากการนำบล็อกเก่ามาทำใหม่เหรียญประเภทนี้จะพบรอยขี้กลากอยู่มาก
ขอบคุณข้อมูลจาก Google

Visitors: 342,623