พระหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว เนื้อผงยาจินดามณี พิมพ์หนังตะลุง

พระเนื้อผงยาจินดามณี พิมพ์หนังตะลุง หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว

พระเนื้อผงจินดามณีของหลวงปู่บุญนั้น นับว่าเป็นสุดยอดของวัดกลางบางแก้ว
เนื่องจากยาจินดามณี เป็นตำรับยาที่มีคุณอเนกอนันต์ และมีชื่อเสียงโด่งดังมาก
ตำรับยานี้เป็นของตกทอดคู่มากับวัดกลางบางแก้ว ว่ากันว่า
ตำรับยานี้เป็นของสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว แห่งกรุงศรีอยุธยาและตกทอดมาสู่วัดกลางบางแก้ว
ตำรับยาฉบับนี้เป็นสมุดข่อย ลงทองล่องชาด กล่าวถึงกรรมวิธีการสร้างที่พิสดารและอนุภาพอัศจรรย์ยิ่ง
กรรมวิธีการสร้าง นั้นก็ยากมาก ต้องหาตัวว่านยาต่างๆ
มาให้ครบตามตำรา ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง ว่านยาแต่ละชนิดต้องนำมาเสกด้วยคาถาแต่ละชนิดไป
เมื่อปลุกเสกเครื่องยาแต่ละส่วนแล้ว ก็เอาเครื่องยามาผสมคลุกเคล้ากันโดยมีคาถากำกับ
ด้วยคาถาฤๅษีประสมยาไว้อีกทีหนึ่ง ตัวหินบดยาก็ต้องลงอักขระ ทั้งตัวลูกหินและแม่หินและมีคาถากำกับขณะบดยาด้วย
เมื่อได้ตัวยาตามต้องการแล้ว จึงจัดการทำพิธี ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 12 ซึ่งหากปีใดได้ราชาฤกษ์ หรือเพชรฤกษ์
จัดว่าดีเยี่ยม ต้องจัดเครื่องสังเวยเทวดา บัตรพลีต่างๆรวมทั้งราชวัตรฉัตรธง ภายในพระอุโบสถ และมีสายสิญจน์รอบพระอุโบสถแต่ละทิศให้ลงยันต์ประจำทิศด้วยผ้าแดง
ด้านหน้าพระอุโบสถให้ลงยันต์ตรีนิสิงเห และยันต์จินดามณีประกอบไว้ เมื่อได้ฤกษ์ให้ชุมนุมเทวดาแล้วให้พระภิกษุและฆราวาสที่ร่วมพิธี ปั้นเม็ดยา ขณะปั้นเม็ดยานั้นก็ต้องภาวนาคาถาตลอดเวลา
ฆราวาสที่เป็นหญิงต้องเป็นพรหมจรรย์ ทั้งฆราวาสชายหญิงต้องรักษาศีลอุโบสถมาแล้ว 3 วัน หลังจากที่ปั้น เม็ดยาวาสนาจินดามณี เสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่ก็จะนำไปปลุกเสกอีกอย่างน้อย 7 เสาร์ 7 อังคาร
ในการทำยาจินดามณีของ หลวงปู่บุญนั้น ทั้งพระและฆราวาสที่ร่วมในพิธี บางคนก็นำแม่พิมพ์ของพระซึ่งเป็นพระเนื้อดิน เนื้อผงต่างๆ ได้นำมากดพิมพ์พระเนื้อยาจินดามณีไว้
ด้วยเป็นบางส่วนไม่มากนัก เช่น พิมพ์เศียร โล้นสะดุ้งกลับ พิมพ์นาคปรกเล็ก พิมพ์ซุ้มแหลม และพิมพ์ลีลาบ้างเป็นต้น แต่พระเนื้อผงยาก็มีจำนวนไม่มากนัก
และพระทั้งหมดก็ได้นำไปปลุกเสกพร้อมๆ กับเม็ดยาจินดามณีนั่นเอง
เท่าที่สืบทราบมาหลวงปู่บุญท่านทำยาจินดามณีไว้แค่ 2 ครั้งเท่านั้น คือ ในปี พ.ศ.2435 และปีพ.ศ. 2476

 

Visitors: 342,726