พระมเหศวร สุพรรณบุรี

พระมเหศวร  กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี

   วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของ จ.สุพรรณบุรี และเป็นหนึ่งในแหล่งโบราณสถานสำคัญที่มีพระปรางค์องค์ประธาน เป็นศิลปะแบบที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยา และที่วัดแห่งนี้ยังมีการขุดพบพระพิมพ์ต่างๆ มากมาย อันเป็นพระเครื่องที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย
               แต่เดิมวัดชื่อ "วัดพระธาตุ" หลังสมัยอยุธยา วัดนี้ถูกทิ้งรกร้าง ไม่มีพระสงฆ์สืบทอดพระศาสนา จนกระทั่งเมื่อปี ๒๔๕๖ ตรงกับรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการขโมยขุดค้นหาของมีค่าโบราณวัตถุต่างๆ จากพระปรางค์องค์ประธาน
               ต่อมาพระยาสุนทรสงคราม (อี้ กรรณสูต) ผู้ว่าราชการสุพรรณบุรีในสมัยนั้น ทราบข่าวจึงเปิดกรุอย่างเป็นทางการ พบพระพิมพ์ต่างๆ บรรจุอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการพบพระพุทธรูปบูชา ศิลปะลพบุรี และอู่ทอง ปะปนอยู่ด้วย พระต่างๆ ทั้งหมดที่ถูกค้นพบในกรุวัดพระศรีฯ แห่งนี้ มีจำนวนมากมายมหาศาล และเป็นที่ยอมรับว่าถูกต้องทุกประการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพราะมีหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกให้รู้แหล่งที่มาของสมบัติอันล้ำค่าในกรุอย่างชัดเจน คือ แผ่นลานทอง ซึ่งมีการแปลอักษรตีความในเวลาต่อมา พระเครื่องพิมพ์ต่างๆ ที่พบ อาทิ พระกำแพงศอก พระกำแพงนิ้ว พิมพ์ต่างๆ พระผงสุพรรณ พระสุพรรณหลังผาล พระสุพรรณหลังเรียบ พระสุพรรณหลังผาลมียันต์ พระปทุมมาศ พระขุนแผนเรือนแก้ว พระปรกโพธิ์ และพระมเหศวร (องค์นี้ได้รับการจัดอันดับให้เป็น ๑ ใน ๕ ของชุดเบญจภาคีพระยอดขุนพล ประเภทพระเนื้อชิน ที่หายากและมีราคาสูง)
               พระมเหศวร กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นพระเครื่องที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับพระพิมพ์อื่นใด ไม่ว่าจะเป็นพระกรุไหนก็ตาม คือ พระพิมพ์นี้มี ๒ หน้า โดยพระเศียรของพระด้านหนึ่ง หากพลิกไปด้านหลังจะตรงกับฐานขององค์พระ คือ พระเศียรวางในตำแหน่งสวนกัน จึงเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่า พระมเหศวร ทั้ง ๒ หน้าเป็นพระปางสะดุ้งมาร สร้างขึ้นในสมัยอู่ทอง
                  มีบางท่านเข้าใจว่า ชื่อ "พระมเหศวร" น่าจะเรียกตามชื่อของขุนโจรชื่อดังแห่งเมืองสุพรรณ ในสมัยก่อน คือ "เสือมเหศวร" แต่ข้อเท็จจริง ชื่อพระมเหศวรมีมาก่อนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ปี ก่อนหน้าที่จะมีเสือมเหศวรเกิดขึ้นในเมืองสุพรรณ ไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี
               พระมเหศวร เป็นพระเนื้อชินเงิน ซึ่งเป็นโลหะผสมจากเนื้อตะกั่ว ดีบุก เงิน และปรอท บางองค์ที่แก่ดีบุกองค์พระจะออกผิวพรรณสีขาวคล้ายสีเงิน  บางองค์ที่แก่ตะกั่ว องค์พระจะออกสีเทาดำ และบางองค์ที่มีส่วนผสมของตะกั่วค่อนข้างสูง จะปรากฏสนิมแดง (แดงส้ม) ของตะกั่วอยู่ประปรายทั่วองค์พระทั้ง ๒ ด้าน
Visitors: 341,712