เสือหลวงพ่อนก วัดสังกะสี

เสือหลวงพ่อนก วัดสังกะสี

หลวงพ่อนก ธัมมโชติ อดีตเจ้าอาวาสวัดนาคราช (วัดสังกะสี) อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ช่วงหนึ่งของการธุดงค์ได้พบและแลกวิชาอาคมกับหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โดยท่านให้วิชาทำปลัดขลิกไป และได้วิชาทำ 'ลิง' มา



บุคลิกลักษณะของท่านเป็นพระรูปร่างเล็ก สูงโปร่ง ว่องไว ใจดี มีเมตตาสูง ทำงานจะมีระเบียบแบบแผน อีกทั้งยังเคร่งครัดในหลักธรรมวินัย กิจของสงฆ์ปฏิบัติไม่เคยขาด โดยเฉพาะเรื่องสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น

เสียงของท่านดังกังวานน่าเกรงขาม เวลาสวดมนต์เมื่อขึ้น 'นะโม' ครั้งใด แม้แต่เด็กยังร้องไห้เลยเพราะกลัวเสียงท่าน

นอกจากนี้ ยังเทศน์สั่งสอนญาติโยม ให้คติเป็นธรรมย้ำเตือนใจ อบรมส่งเสริมให้ทำแต่ความดี ดั่งเช่นอุบายอันแยบคายที่ว่า 'เกิดเป็นคนต้องสนใจในการศึกษาหาความรู้ให้มากๆ ใช้สติปัญญา เพราะปัญญาไม่ว่าขโมยหรือโจรปล้นเอาไปไม่ได้ คนดีมีปัญญาไม่อดตาย การบวชเรียนก็เช่นกัน เมื่อบวชแล้วต้องเรียนให้รู้ให้แจ้ง เมื่อรู้แล้วก็จะเป็นคุณให้ประโยชน์ โดยนำวิชานั้นมาบำรุงสร้างสรรค์สังคมในหมู่ชนให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป ฉะนั้นขอให้จำไว้ว่าจะเรียนอะไรก็ดี ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม

ไม่ว่าใครที่ไปมาหาสู่ ท่านจะต้อนรับอย่างเรียบๆ ไม่มีพิธีรีตองอะไร ไม่มีเรื่องเจ้ายศเจ้าอย่างให้วุ่นวาย ท่านกระทำตัวท่านให้เป็นแบบอย่างที่ดี ใช้ชีวิตแบบสมถะ ไม่สะสมสิ่งของไว้เป็นของตัวเอง มีอะไรที่ได้รับถวายมา จะแบ่งแจกไปในหมู่สงฆ์ให้ทั่วกัน

วัตถุมงคลขลังที่ท่านสร้างไว้มีเขี้ยวเสือ, เหรียญหยดน้ำทองแดง, ปลัดขิก, ลูกอม, ตะกรุดโทน พระปิดตา เนื้อตะกั่วถ้ำชา พิมพ์กลีบบัว สร้างฉลองอายุ 60 ปี พ.ศ.2452 ประมาณ 100 องค์ และพระปิดตา เนื้อตะกั่ว หยอดยาฝิ่นผสมปรอทใต้ฐาน สร้างฉลองอายุ 82 ปี พ.ศ.2474 ประมาณ 500 องค์

แต่ละชนิดนั้นล้วนหายาก และมีราคาเช่าหาสูง ชาวปากน้ำเชื่อในพุทธคุณที่ครบเครื่องรอบด้าน

วาระสุดท้ายของชีวิต หลวงพ่อนกเกิดอาพาธอย่างหนัก ก่อนที่จะละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ.2475 ตรงกับแรม 7 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก รวมอายุได้ 83 ปี

สังขารของท่านถูกนำมาประชุมเพลิงที่วัดคลองสวน ต.เกาะไร่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา หลังจากนั้นได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งที่วัดสังกะสี แล้วนำอัฐิหลวงพ่อนกพร้อมกับวัตถุมงคลจำนวนหนึ่งที่สร้างในงานฉลองอายุครบ 82 ปี มาบรรจุไว้ในเจดีย์ ประกอบด้วย ลูกอมสองไห จำนวน 1,426 เม็ด และเหรียญหยดน้ำรุ่นแรก จำนวน 10 เหรียญ

สำหรับเขี้ยวเสือแกะหลวงพ่อนก วัดสังกะสี ที่ปรากฏหมุนเวียนให้พบเห็นทั่วไปหรือแม้ในงานประกวดเครื่องรางนั้น มีหลากศิลป์และหลายรูปแบบ ทั้งฝีมือของช่างแกะของวัด และแม้จะอ้างอิงจากหนังสือหรือนิตยสาร บทความที่เกี่ยวข้องก็จะพบว่ามีไม่ใช่น้อย เพราะไม่เพียงแต่เขี้ยวแกะจะมีหลายฝีมือช่างสร้างที่เสกจากวัดสังกะสีเอง แต่ยังมีสำนักอื่นที่ทำขึ้นคล้ายคลึงและของฝีมือรวมอยู่ด้วย

ดังนั้น หากคิดจะเล่นหาสะสม โปรดศึกษาให้ลึกซึ้งจากตำรา และจากบรรดาผู้รู้ (ตัวจริง)

ประวัติหลวงพ่อนก วัดสังกะสี
หลวงพ่อนก วัดสังกะสี ท่านเกิดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2392 ปีระกา ตรงกับ วันเสาร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 2 บ้านเกิดอยู่ที่ตำลงบางกระเจ้า อำเภอนครเขื่อนขันธ์ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอพระประแดง) จังหวัดสมุทรปราการ
พ่อของท่านชื่อ นายนวล แม่ชื่อนางเคลือบ แม่ของท่านเป็นคนบางบ่อ เมื่อตอนท่านยังเด็ก พ่อและแม่ได้นำท่านไปฝากเรียนหนังสือที่วัดกับพระอธิการโต วัดบางบ่อ เมื่ออายุครบ 15 ปี พ่อและแม่ของท่านได้พาท่านไปบรรพชาบวชเป็นสามเณร ณ วัดกองแก้ว ตำบลบางยอ อำเภอนครเขื่อนขันธ์ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายนวล โดยมี พระครูวิบูลย์ธรรมคุต เป็นพระอุปัชฌาย์
ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัย หนังสือขอม หนังสือไทย จนอายุครบบวช ในขณะนั้นนายนวลพ่อของท่านได้เสียชีวิตลงแล้ว แม่ของท่านจึงได้พาท่านไปบวชพระที่บ้านคลองด่าน ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบางเหี้ย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดมงคลโคธาวาส) ตำบลคลองด่าน อำเภอบางเหี้ย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็นบางบ่อ) จังหวัดสมุทรปราการ
โดยมีพระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ หรือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์เรือน (วัดบางเหี้ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ท่านได้รับฉายาว่า “ธมฺมโชติ”
เมื่อบวชเป็นพระแล้ว ท่านก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัย สมถะวิปัสสนากรรมฐาน และพระเวทวิทยาคมต่างๆ จากหลวงพ่อปาน ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ด้วยความที่ท่านเป็นคนที่มีสติปัญญาดี มีไหวพริบไวเฉลียวฉลาด และมีความจำที่แม่นยำ ท่านจึงศึกษาเล่าเรียนความรู้และวิทยาคมต่างๆ จนแตกฉาน 
 หลวงพ่อนก ท่านได้ติดตามหลวงพ่อปาน ออกธุดงค์ไปด้วยเป็นประจำ หลวงพ่อปานท่านได้สอนวิธีทำเขี้ยวเสือให้กับหลวงพ่อนก จนมีความชำนาญยิ่งและได้รับคำชมเชยจากหลวงพ่อปานว่า ทำได้ขลังและเหมือนท่านมากจริงๆ หลวงพ่อนกท่านสามารถปลุกเสกเขี้ยวเสือให้กระโดดออกมาจากบาตรได้ เขี้ยวแกะเสือหลวงพ่อนกจึงได้มีชื่อเสียงเลื่องลือมากจนนักสะสมเครื่องรางอยากจับจองไว้เป็นเจ้าของ

เขี้ยวเสือหลวงพ่อนก
บางทีหลวงพ่อปานท่านก็ให้หลวงพ่อนก ท่านจารอักขระเขี้ยวเสือให้ด้วย หลวงพ่อปานท่านไว้วางใจหลวงพ่อนกเป็นอย่างมาก ยกย่องให้หลวงพ่อนกเป็นศิษย์เอกของท่านเลยทีเดียว
ในบางครั้ง หลวงพ่อนกก็ได้ปลีกตัวออกรุกข์มูลองค์เดียวหรือไปกับหมู่คณะเพียง 2-3 รูปบ้าง จนมาวันหนึ่งท่านได้เดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่หมู่บ้านคลองพระยานาคราช ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ได้มีขุนสำแดงเดชา ภรรยานามว่า นางนุ่ม ได้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินให้สร้างวัด แล้วนิมนต์หลวงพ่อนกให้อยู่ดูแลวัดสังกะสี
ซึ่งท่านเมื่อได้ปรึกษาหลวงพ่อปานแล้ว ก็ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดสังกะสีให้ตามคำอ้อนวอนของญาติโยมและได้มาทะนุบำรุงวัดให้เจริญรุ่งเรือง ในปี พ.ศ.2430 จนถึงวันที่มรณะภาพในวันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ.2475 ตรงกับแรม 7 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก สิริรวมอายุได้ 83 ปี

Visitors: 342,419